...

ประกาศ/คำสั่ง/ข้อบังคับ

งานแถลงข่าวความสำเร็จกับการพัฒนาต้นแบบวัคซีนเชื้อตายโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทยฯ

วันที่ 27 กันยายน 2565 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นายสัตวแพทย์ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร รองผู้อำนวยการ สถานเสาวภา ฝ่ายวิชาการ นายสัตวแพทย์สุรศักดิ์ เอกโสวรรณ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ สถานเสาวภา นายสัตวแพทย์ ดร.สุพจน์ วัฒนะพันธ์ศักดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนางสาววชิราภรณ์ แสงสีสม ฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถานเสาวภา ร่วมแถลงความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบวัคซีนเชื้อตายโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทย โดยได้รับทุนศึกษาวิจัยจากสภากาชาดไทยและได้รับความร่วมมือจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ของเชื้อไวรัสที่ระบาดในประเทศไทยได้สำเร็จ รวมทั้งได้พัฒนาต้นแบบชุดตรวจไวรัสกาฬโรคในม้าจากตัวอย่างน้ำลายและเลือดของม้า ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกอำนวยการ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ในการนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการระบบศึกษาและวิจัยสภากาชาดไทย นายจาตุรนต์ พลราช ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าวด้วย

สถานเสาวภา สภากาชาดไทยเป็น สำนักงานที่มีพันธกิจ เกี่ยวกับการผลิตชีววัตถุ พัฒนา ค้นคว้า วิจัย และบริการทางวิชาการทางการแพทย์ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “เพื่อปิตุภูมิ เพื่อวิทยา เพื่อมนุษย์ชาติ” ผู้ทรงสถาปนาสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในการผลิตชีววัตถุ เช่น เซรุ่มแก้พิษงู และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จากพลาสมาของม้า ในสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ สถานเสาวภา ซึ่งหากมีการเกิดโรคระบาดในม้าจะส่งผลกระทบต่อการ ผลิตเซรุ่มเพื่อใช้ในการให้บริการรักษาประชาชน

เมื่อช่วงเดือนมีนาคม จนถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2563 มีรายงานพบม้าที่มีอาการป่วยรุนแรงล้มตาย จำนวนมากกว่า 550 ตัว ในหลายจังหวัด ประเมินมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท การชันสูตรโรคในม้าป่วยและล้มตาย ยืนยันผลตรวจทางอณูชีววิทยาว่าม้าป่วยติดเชื้อไวรัส African horse sickness (AHS) เป็นเชื้อไวรัสชนิด serotype 1 จากที่มีรายงานว่าเชื้อไวรัส AHS มีอยู่ 9 serotypes ม้าที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีอัตราการป่วยและอัตราการตายสูง ถึง 70-95% โดยมีแมลงดูดเลือด เช่น ตัวริ้น เป็นพาหนะที่นำเชื้อไวรัสมาสู่ม้า จึงจัดเป็นโรคอุบัติใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าที่ได้ผลแน่นอน แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการ ฉีดวัคซีนให้กับม้า วัคซีนที่ใช้มีทั้งวัคซีนเชื้อเป็นที่ทราบ serotype หรือวัคซีนเชื้อตายซึ่งมีแอนติเจนจำเพาะต่อไวรัส serotype ตรงกับการระบาดของโรคในพื้นที่ ปัจจุบันวัคซีนเชื้อเป็นสำหรับป้องกันโรค AHS ที่จำหน่ายอยู่ในต่างประเทศมี 2 ชนิด ได้แก่ polyvalent ที่ประกอบด้วย 3 serotypes (1, 3 และ 4) และอีกชนิดที่ประกอบด้วย 4 serotypes ได้แก่ serotype 2 ,6, 7 และ 8 ซึ่งข้อดีคือสามารถกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นระยะเวลานาน แต่กลับพบข้อเสียคือ ความรุนแรงของโรคสามารถย้อนกลับทำให้แสดงอาการทางคลินิกของโรคได้เมื่อการเกิดระบาดของโรคที่มี serotype ไม่ตรงกับวัคซีน รวมทั้งวัคซีนมีราคาแพงมากและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในการนำเข้าจากต่างประเทศ

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่าง 17 หน่วยงานรวมทั้งสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องม้าในประเทศไทย เพื่อหาวิธีการป้องกันและรักษาโรค กาฬโรคแอฟริกาในม้าและทำให้โรคนี้หมดไปในประเทศไทย

สถานเสาวภา สภากาชาดไทยได้เสนอโครงการวิจัย “การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน African horse sicknessserotype1 เชื้อตาย และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันวิทยา เพื่อป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสภากาชาดไทย เป้าหมายของโครงการนี้เป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค AHSสำหรับใช้เองในประเทศ โดยมีคณะนักวิจัยของสถานเสาวภา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นสพ. ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ นสพ. สุรศักดิ์ เอกโสวรรณ นสพ. สุรสีห์ อุ๋ยสุวรรณ และ นสพ. ดามพ์ นราภรณ์ นายสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นสพ. สุพจน์ วัฒนะพันธ์ศักดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ นสพ.รชฎ ตันติเลิศเจริญ หน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาวิจัยพัฒนาต้นแบบวัคซีนเชื้อตายจากเชื้อไวรัส African horse sickness serotype 1 ดำเนินการที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพัฒนาสร้างวัคซีนใช้เทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส serotype 1 จากเซลล์เนื้อเยื่อม้าป่วยที่ระบาดอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย โดยขั้นตอนแรก ศึกษาทดลองในหนูขาวเปรียบเทียบการให้วัคซีนเชื้อตาย (inactivated AHS vaccine serotype 1)ที่มีส่วนผสม adjuvant ต่างชนิด หาส่วนผสมวัคซีนชนิดที่เหมาะสมให้การตอบสนองระดับทางภูมิคุ้มกันและปลอดภัย ก่อนถูกเลือกนำไปใช้ศึกษาในม้าในขั้นตอนที่สอง โดยคัดเลือกม้าไว้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มม้าอายุ 2-3 ปี จำนวน 15 ตัว ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นป้องกันโรค AHS 1 ครั้งมาแล้วประมาณ 18 เดือน และกลุ่มม้าอายุ 6-7 เดือน จำนวน 12 ตัว และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค AHS มาก่อน ในการศึกษาม้าทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีน inactivated AHS serotype 1 ขนาด 2 ซีซี./ตัว เข้าใต้ผิวหนังบริเวณแผงคอของม้า พบว่าม้าที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วทั้ง 2 กลุ่ม ผ่านไป 2 สัปดาห์ตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อ AHS ที่สูง การยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาใช้พบว่าเมื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่สองในวันที่ 28 ไปแล้ว พบม้ามีการตอบสนองระดับภูมิคุ้มกันต่อ AHS สูงขึ้นภายในวันที่ 7 หลังให้วัคซีนและอยู่ในระดับสูงตลอดระยะเวลาที่ศึกษา 158 วัน โดยสรุปประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จากการศึกษาความปลอดภัยของวัคซีนที่ใช้ในม้าทั้ง 2 กลุ่มไม่พบผลข้างเคียงจากการอักเสบตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน inactivated AHS serotype 1 และการติดตามสุขภาพม้าภายหลังการรับวัคซีนในช่วงระยะเวลา 30-42 วันผลการตรวจเลือดม้าทาง hematology และ blood chemistry อยู่ในระดับปกติของช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ภายหลังการรับวัคซีน

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยนางสาววชิราภรณ์ แสงสีสม และคณะ ได้พัฒนาต้นแบบชุดตรวจไวรัสโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เป็นชุดตรวจตัวอย่างจากเลือดและน้ำลายของม้าเป็นวิธีการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคในม้าอีกทางหนึ่ง ด้วยวิธี Lateral flow immunochromatographic strip test (LFICS)