...

คำจารึก

คำจารึกสถานเสาวภา

      ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาลล่วงแล้ว 2462 พรรษากาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรคำนึงถึงพระคุณสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สนองพระคุณมาตั้งแต่วันสวรรคตเป็นเอนกปริยาย จนถึงเมื่อถวายพระเพลิง พระบรมศพ ทรงพระราชปรารภจะใคร่สร้างสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ให้ยั่งยืนอยู่ในสยามประเทศเป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนี ฯ อีกสักอย่างหนึ่ง ทรงพระราชดำริห์ว่าเมื่อสมเด็จพระบรมราชินีนารถพระบรมราชชนนีฯ ยังเสด็จดำรงพระชนมชีพอยู่นั้น ในบรรดาสาธารณประโยชน์ซึ่งได้ทรงขวนขวายเกื้อหนุนเป็นนิจนิรันดร การอย่างอื่นซึ่งจะทรงพระราชศรัทธายิ่งกว่าพยาบาลบำบัดโรคภัยไข้เจ็บพระราชทานสุขลาภแก่ประชาชนนั้นมิได้มี จึงได้ทรงรับหน้าที่เป็นสภานายิกาของสภากาชาดมาแต่แรก ตั้งขึ้นในสยามประเทศแลทรงทะนุบำรุงการนั้นมาจนได้ตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลอย่างดีที่สุดในประเทศทางบุรพทิศแห่งหนึ่งในปัจจุบันนี้ เพราะฉนั้นสิ่งซึ่งจะทรงสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีฯ นั้น ถ้าเนื่องในสภากาชาดก็จะเป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย แลสมกับพระกรุณาบารมีซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมา ก็แต่การของสภากาชาดมีหลายอย่างที่จัดตั้งเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้วก็มี ที่ยังบกพร่องจะต้องจัดขึ้นก็มี เป็นต้นว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น บัดนี้นับว่าพอตั้งเป็นปึกแผ่นได้ ทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีฯ ก็ได้ทรงสร้างตึกใหญ่พระราชทานหลังหนึ่งแล้ว แต่สถานปาสเตอรซึ่งมีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์เข้ากันเป็นทุนถวายให้ตั้งขึ้นสำหรับพระนครเมื่อพ.ศ. 2455 แลได้โปรดให้สภากาชาดรับอำนวยการต่อมานั้น ยังขัดข้องต้องรั้งรอการงาน ไม่สามารถจะขยายให้เป็นประโยชน์แก่มหาชนยิ่งขึ้นได้ดังสมควรจะเป็น เพราะเหตุตั้งอยู่ในที่คับแคบไม่พอการก็แลลักษณการในสถานปาสเตอรนั้น เป็นที่ตรวจค้นพืชพรรณสรรพโรคแลคิดประสมโอสถสำหรับฉีดป้องกันอันตรายแต่โรคร้ายต่าง ๆ ประเทศทั้งปวงย่อมนับว่าเป็นอุปกรณ์อย่างสำคัญในการรักษาพยาบาลไข้เจ็บให้มหาชน ถึงในประเทศนี้แต่ตั้งสถานปาสเตอรมาก็ได้เห็นคุณแลประโยชน์ปรากฏแล้วเป็นอันมาก สมควรจะสร้างสถานแลทนุบำรุงการพแนกนั้นให้รุ่งเรืองเป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีฯ คู่กันกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อันเป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราช 

      ทรงพระราชดำริห์ฉนี้ จึงทรงพระราชอุทิศที่ดินตรงมุมถนนสนามม้าต่อถนนหัวลำโพง อันเป็นของพระคลังข้างที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเนื้อที่ 18,771.18 ตารางวา แลทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 258,000 บาท ตามประมาณการก่อสร้างตึกใหญ่ มอบพระราชทานแก่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถซึ่งทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาด ให้ทรงจัดการก่อสร้างต่างพระเนตร์พระกรรณ แต่สมเด็จพระอนุชาธิราชฯ พระองค์นั้นทิวงคตเสียก่อนยังมิทันได้เริ่มการ จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตร์สุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์ วรพินิต ซึ่งได้ทรงรับตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาด ทรงจัดการก่อสร้างสืบมาจนสำเร็จสมพระราชประสงค์

      อนึ่ง สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์จำนวน 27,000 บาท สร้างตึกบริวารเบื้องอิสาณ 1 หลัง กับพระบรมวงศานุวงษ์และข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในได้ทรงบริจาค และบริจาคเงินมากบ้างน้อยบ้างโดยเสด็จในพระราชกุศลอันนี้ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 32,306 บาท 53 สตางค์ ได้จ่ายไปในการสร้างตึกบริวารเบื้องพายัพ 1 หลัง และในการถมที่และจัดซื้อเครื่องใช้เครื่องตกแต่งสถานที่ตามสมควร

      ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ที่ 7 ธันวาคม พระพุทธศักราช 2465 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังสถานที่นี้ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชเสวก ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ผู้แทนสภากาชาดแห่งบุรพประเทศ อันได้เข้ามาชุมนุมปฤกษาการอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยอำนวยแห่งสันนิบาตสภากาชาดขณะนั้น และสาธุชนที่โดยเสด็จในการพระราชกุศลแวดล้อมเป็นราชบริวาร ทรงเปิดสถานนี้แล้วพระราชทานนามว่า “ สถานเสาวภา” ตามพระนามาภิธัยในสมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีฯ ให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไปชั่วกัลปาวสาน ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลซึ่งทรงบำเพ็ญทั้งนี้ถวายสนองพระคุณสมเด็จพระบรมราชินีนารถพระบรมราชชนนีฯ และพระราชทานส่วนพระกุศลแก่สาธุชนทั้งหลาย ทั้งที่ได้ช่วยการตั้งปาสตุรสภามาแต่ก่อน แลที่ได้โดยเสด็จในการสร้างสถานเสาวภาครั้งนี้ ขอจงได้อนุโมทนาแลเจริญสุขสถาพรเป็นนิจเทอญฯ

* หมายเหตุ : คำสะกดไม่ตรงกับภาษาไทยในปัจจุบันด้วยคัดลอกมาจากคำจารึกสถานเสาวภา