ภารกิจฝ่าย กลุ่มงาน

สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ

สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทย เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา

ความเป็นมา
     ก่อนจะมาก่อตั้งเป็นสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ ที่อำเภอหัวหินตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สถานเสาวภาเคยมีฟาร์มม้าอยู่แห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยฟาร์มม้าแห่งนี้ใช้ชื่อว่า “ แผนกเซรุ่ม “ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ แต่ยังไม่ใช่ที่ที่เลี้ยงม้าแห่งแรกของสภากาชาดไทย ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2471 สมัยที่เพิ่งมีการจัดตั้งสถานเสาวภามาไม่นาน เรามีการเลี้ยงม้าภายในตึก โดยใช้ ”ตึกเสรฐภักดี “ ( ซึ่งปัจจุบันเป็นตึกของฝ่ายชันสูตรและวิจัยโรคในสัตว์ ) ตึกที่อยู่ทางทิศตะวันออกของสถานเสาวภา กรุงเทพมหานคร เป็นที่เลี้ยงม้าที่ใช้ในการผลิตเซรุ่ม ตึกนี้สร้างขึ้นจากการบริจาคของครอบครัวเสรฐภักดี ที่ได้บริจาคเงินสร้างตึกดังกล่าว เพื่อการบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่พระยาประดินันทน์ภูมิรัตน์ และในปีเดียวกัน “ตึกราชูปถัมภ์ “ ก็เป็นอีกตึกหนึ่ง ที่ถูกใช้เพื่อการเลี้ยงม้า ตึกนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง เท่ากับว่ามีการเลี้ยงม้ามาก่อนที่กรุงเทพ โดยมีการใช้ตึก 2 ตึกดังกล่าว

     “ หมวดเซรุ่ม “ เป็นหมวดหนึ่งที่เคยอยู่ภายใต้ แผนกรักษามนุษย์และแผนกรักษาสัตว์ (ทำเซรุ่มรักษาสัตว์ )สองแผนกในสามแผนก ที่เมื่อสมัยปี พ.ศ. 2466 ที่กองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย หรือสถานเสาวภา มีการจัดการแบ่งเป็นกิจการต่างๆขึ้นภายใน ( แผนกที่สาม คือ แผนกบัคเตรีวิทยา ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการยกระดับขึ้นมาเป็นแผนกเซรุ่ม และมีหน้าที่ในการทำเซรุ่มแก้พิษงู กับเซรุ่มทั่วไป และเมื่อปี 2496 สภากาชาดไทยได้ซื้อที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 80ไร่ ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มาทำเป็นฟาร์มเลี้ยงม้าผลิตเซรุ่ม อันเนื่องมาจากความต้องการเซรุ่มแก้พิษงูมีมากขึ้น และจำเป็นต้องมีการขยายการเลี้ยงม้าเพิ่มขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลีย ตามแผนโคลัมโบ มีการมอบม้าสำหรับผลิตเซรุ่ม แม่ม้าทำพันธุ์และพ่อม้า ทั้งสิ้น 101 ตัว ซึ่งต่อมาในปี 2503 ได้มีการซื้อที่ดินที่ติดกันเพิ่มอีก 24 ไร่ เพื่อใช้สำหรับการปลูกหญ้าให้ม้า รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 100 ไร่

“ แผนกเซรุ่ม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2499 "


สถานที่

      สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สภากาชาดไทย เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาเป็นชื่อที่ใช้เพื่อการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ ราชูปถัมภกของสภากาชาดไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ติดต่อกัน 2 จังหวัด เขตรอยต่อของอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเป็นพื้นที่ที่อยู่ในโครงการปลูกป่ามูลนิธิชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง มีลักษณะคล้ายฟาร์มเลี้ยงม้าแห่งหนึ่ง บนพื้นที่ 646 ไร่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร ทางถนนสายหัวหิน-ป่าละอู พื้นที่สถานีประมาณเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า โดยมีอาณาเขตรอบๆติดกับพื้นที่โครงการปลูกป่ามูลนิธิชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง การวางแผนงานการพัฒนาพื้นที่และก่อสร้างต่างๆเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2538 เป็นต้นมา ภายหลังที่พื้นที่ที่เตรียมไว้เป็นสถานีเพาะเลี้ยงม้าที่ตำบลวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวนกว่า 500 ไร่ จะมีการถูกเวนคืนที่ เพื่อนำไปสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตามโครงการพระราชดำริ การพัฒนาจากพื้นที่ที่ว่างเปล่าแห่งนี้ เพื่อสร้างเป็นพื้นที่แปลงหญ้าเลี้ยงม้า ก่อสร้างอาคารปฏิบัติงานและบ้านพักอาศัย จึงได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2539 ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 15 เดือน จึงแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2540 และได้เปิดเป็นทางการโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2543

      ภายในพื้นที่ของสถานี 646 ไร่ จะมีส่วนหนึ่งประมาณ 75 ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียวที่อยู่บนเขา ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ใดๆมากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่จำนวนกว่า 500 ไร่ได้แบ่งเป็นแปลงปลูกหญ้าเพื่อเป็นแปลงปล่อยม้าและแปลงปลูกหญ้าสดให้มากิน ที่เหลือประมาณ 43 ไร่ ถูกนำมาใช้เป็นที่ก่อสร้างบ้านพักและอาคารปฏิบัติงานต่างๆ ประกอบไปด้วยบ้านพัก 60 หลัง อาคารสำนักงาน 1 หลัง อาคารปฏิบัติงานเซรุ่ม 1 หลัง อาคารสัตว์ทดลอง โรงรถและโรงเก็บของต่างๆ มีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำที่นำน้ำมาใช้ทั้งการผลิตเป็นน้ำประปาและรดน้ำแปลงหญ้า

การเลี้ยงม้าแบบปล่อยแปลง และการรดน้ำแปลงหญ้าด้วยสปริงเกอร์


การผลิตเซรุ่มจากเลือดม้า

      ปัจจุบันทางสถานีฯ มีการเลี้ยงม้าทั้งสิ้น ประมาณ 495 ตัว ในจำนวนนี้เป็นม้าที่ใช้ในการผลิตเซรุ่มจำนวน 249 ตัว นอกนั้นเป็นลูกม้าอายุ 1-4 ปี จำนวน 144 ตัว (ที่เตรียมไว้ทำเซรุ่มเมื่ออายุได้ 4 ปี) และม้าที่ไม่สามารถใช้งานได้แก่ ม้าปลด ม้าที่มีสุขภาพไม่ดี และอิ่นๆ ซึ่งม้ากลุ่มนี้ทั้งหมด สถานีมีการเลี้ยงไปตลอดจนถึงอายุขัน ไม่ได้ทดอทิ้งใดๆ

ม้าที่ใช้งานเจาะเลือดผลิตพลาสมา เพื่อนำไปใช้ผลิตเซรุ่ม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ม้ากลุ่มใช้งานผลิตเซรุ่มแก้พิษงู จำนวน 7 ชนิด จำนวน 146 ตัว ที่ใช้ผลิตเซรุ่มแก้พิษงูใน 2 รูปแบบ คือ

     รูปแบบเซรุ่มชนิดเดี่ยว (Monovalent antivenin) ประกอบด้วย

          1. เซรุ่มแก้พิษงูจงอาง (King Cobra antivenin)

          2. เซรุ่มแก้พิษงูเห่า (Cobra antivenin)

          3. เซรุ่มแก้พิษงูสามเหลี่ยม (Banded Krait antivenin)

          4. เซรุ่มแก้พิษงูกะปะ (Malayan Pit Viper antivenin)

          5. เซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ (Green Pit Viper antivenin)

          6. เซรุ่มแก้พิษงูแมวเซา (Russell’s Viperantivenin)

          7. เซรุ่มแก้พิษงูทับสมิงคลา (Malayan Krait antivenin)

     รูปแบบเซรุ่มรวมแก้พิษงูระบบเดียวกัน ( Polyvalent antivenin) ในขวดเดียวกัน ประกอบด้วย

          1. เซรุ่มรวมแก้พิษงูที่มีผลต่อร่างกายทางระบบประสาท (Neurotoxin polyvalent antivenin) จำนวนงู 4 ชนิดที่รวมเซรุ่มแก้พิษงูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลาไว้ในขวดเดียวกัน

          2. เซรุ่มรวมแก้พิษงูที่มีผลต่อร่างกายทางระบบโลหิต (Hematotoxin polyvalent antivenin) จำนวนงู 3 ชนิด ที่รวมเซรุ่มแก้พิษงูกะปะ งูเขียวหางไหม้ และงูแมวเซาไว้ในขวดเดียวกัน


2. ม้ากลุ่มใช้งานผลิตเซรุ่มเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
(ERIG) (Equine Rabies Immunoglobulins) จำนวน 103 ตัว

      การทำเซรุ่มจากม้า หรือที่เรียกว่าการเตรียมพลาสม่าดิบ จะเป็นการเจาะเก็บเลือดม้าโดยวิธีพลาสม่าเฟอรีซิส ( plasmapheresis ) ซึ่งหมายถึงการเจาะเก็บเลือดม้าที่มีการแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นของเหลวภายหลังจากการตกตะกอนของเม็ดเลือดแล้ว ของเหลวหรือพลาสม่า ( plasma ) นี้ จะมีการรวบรวมนำส่งเพื่อเพียวริไฟด์เอาส่วนที่เป็นโปรตีนที่ต้องการ คือ อิมมูโนโกลบูลิน ( immunoglobulin ) ต่อไป แต่เม็ดเลือดที่มีการตกตะกอน ซึ่งจะเป็นเม็ดเลือดแดงส่วนใหญ่ จะมีการนำกลับเข้าตัวม้าเดิม ดังนั้นม้าจะมีการสูญเสียเม็ดเลือดจากร่างกายเพียงเล็กน้อย ในแต่ละปีจะมีการผลิตพลาสมาจากม้าเพื่อนำไปผลิตเซรุ่มแก้พิษงูต่างๆจำนวนประมาณ 3500 ลิตร และเซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้าจำนวนประมาณ 2,500 ลิตร

      การผลิตเซรุ่มจากม้า จะเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกม้าที่มีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคใดๆ มาฉีดกระตุ้นด้วยพิษงูหรือพิษสุนัขบ้าตามโปรแกรมที่กำหนด พักม้ารอการตรวจหาไตเตอร์ และคัดม้าที่จะเจาะเก็บเลือดต่อไป

การเจาะเก็บเลือดม้าที่ยืนอยู่ในซองม้าในบริเวณที่ทำเป็นห้องควบคุมอากาศ โดยเลือดที่เจาะจะไหลผ่านสายเจาะเลือดเข้ามาที่ขวดเก็บเลือดที่อยู่ภายในห้องสะอาดที่มีการควบคุมระบบอากาศผ่านการกรองตามมาตรฐาน เพื่อให้ได้เลือดม้าที่สะอาด ไม่มีสิ่งเจือปนหรือเชื้อโรค


สัตว์ทดลอง

      สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ตระหนักดีถึงความสำคัญของการใช้สัตว์ทดลองเหล่านี้ จึงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างคุณภาพการผลิตสัตว์ทดลอง ให้ได้สัตว์ทดลองที่มีสุขภาพดี ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด โดยสัตว์ทดลองที่อยู่ในการผลิตของสถานีปัจจุบันนี้ได้แก่ หนูเม้าส์ซึ่งสัตว์ทดลองนี้ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเซรุ่มส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งผลิตเพื่อส่งต่อให้นักวิทยาศาสตร์นำไปใช้ทดสอบประกอบงานวิจัยต่างๆ

หนูถีบจักร (MICE)


ภาพบรรยากาศสถานีเพาะเลี้ยงม้า