...

งานชันสูตรและวิจัยโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

โรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข

      การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขพบว่าน้ำลายสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นแหล่งสำคัญที่สุดในการแพร่ระบาดของโรค โดยพบเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าเริ่มถูกขับออกมาในน้ำลายของสุนัขได้ในช่วงตั้งแต่ระยะ 3 วันก่อนที่สุนัขแสดงอาการของโรคและเมื่อเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าถูกขับออกมาทางน้ำลายแล้วเชื้อไวรัสนี้จะถูกขับออกมาทางน้ำลายติดต่อกันจนกระทั่งสุนัขตาย

     เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า จะเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์ทางบาดแผลที่ถูกสัตว์หรือสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด โดยตรงหรือน้ำลายสัตว์ไปสัมผัสบริเวณบาดแผลที่ฉีกขาดที่ผิวหนังหรือตามเยื่อเมือกต่างๆของร่างกายเช่น เยื่อเมือกบริเวณปาก ตา จมูก เป็นต้น

      สุนัขที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดเอาระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3 - 8 สัปดาห์ แต่ระยะฟักตัวของโรคที่สั้นกว่าหรือเกินกว่านี้พบได้น้อยมาก แต่ปกติจะพบว่าสุนัขที่โตเต็มที่แล้ว มักจะมีความต้านทานต่อการติดโรคสูงกว่าลูกสุนัข และระยะฟักตัวของโรคมักจะยาวนานกว่าอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้คือ อาการระยะเริ่มแรก ระยะตื่นเต้น และระยะอัมพาต

      อาการระยะเริ่มแรก จะสังเกตเห็นอุปนิสัยและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สุนัขเคยมีนิสัยชอบเล่นคลุกคลีกับเจ้าของจะแยกตัวออกไป มีอารมณ์หงุดหงิด แต่สุนัขที่เคยตื่นกลัวไม่เคยคลุกคลีกับเจ้าของจะเข้ามาหาหรืออยากจะคลุกคลีด้วย ในระยะนี้อุณหภูมิของร่างกายอาจสูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ม่านตาจะขยายโตกว่าปกติและเริ่มมีการตอบสนองต่อแสงลดลง สุนัขจะแสดงอาการระยะนี้ประมาณ 2 – 3 วันก่อนจะเข้าสู่ระยะตื่นเต้น

     อาการระยะตื่นเต้น สุนัขเริ่มมีอาการกระวนกระวาย มีอาการทางระบบประสาท มีอาการสนองรุนแรงต่อเสียงหรือสิ่งกระตุ้นต่างๆ และเริ่มมีอาการตื่นเต้นกระวนกระวายมากขึ้น อาจแสดงอาการงับแมลงหรือวัตถุที่ขวางหน้า กัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เริ่มออกวิ่งโดยไร้จุดหมาย แสดงอาการดุร้ายโดยจะกัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า ถ้ากักขังจะกัดกรงอย่างรุนแรงจนเลือดกลบปากหรือฟันหักโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนจะผิดไปเนื่องจากเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อกล่องเสียง สังเกตบริเวณลิ้นจะพบสีแดงลิ้นห้อย น้ำลายไหลเนื่องจากเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเคี้ยวและการกลืน สุนัขอาจแสดงอาการขยอกหรือขย้อนคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมติดในลำคอ โดยสุนัขจะแสดงอาการระยะนี้ประมาณ 1 – 7 วันก่อนเข้าสู่ระยะอัมพาต

     อาการระยะอัมพาต อาการระยะนี้จะสั้นมาก จะมีอาการขาอ่อนเปลี้ยโดยเฉพาะขาหลังเนื่องจากความสัมพันธ์ในการทำงานของกล้ามเนื้อเปลี่ยนไป สุนัขจะล้มลงแล้วลุกไม่ได้ เกิดเป็นอัมพาตขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็วแล้วตาย

      โดยทั่วไปพบว่าสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ จะแดงอาการในระยะตื่นเต้นให้เห็นเด่นชัดหรือเรียกว่าเป็นบ้าแบบดุร้ายมากกว่าแสดงอาการในระยะอัมพาตเด่นชัดหรือบ้าแบบซึม


โรคพิษสุนัขบ้าในแมว

      การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้าในแมว ในธรรมชาติเกิดจากการได้รับเชื้อทางน้ำลายของแมวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าเองกัดเอา หรือได้รับเชื้อจากน้ำลายโดยการกัดของสัตว์เลี้ยงอื่นๆที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เช่น จากสุนัข เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าจะเริ่มถูกขับออกมาทางน้ำลายของแมวในช่วงระยะ 1 วันก่อนแสดงอาการและจะมีอยู่ในน้ำลายตลอดจนกระทั่งแมวตาย คนและสัตว์เลี้ยงอื่นๆได้รับอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้าในแมวเช่นเดียวกัดโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข

      เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ะเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์ทางบาดแผลที่ถูกสัตว์หรือสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดโดยตรง หรือน้ำลายสัตว์ไปสัมผัสบริเวณบาดแผลที่ฉีกขาดที่ผิวหนังหรือตามเยื่อเมือกต่างๆของร่างกายเช่น เยื่อเมือกบริเวณปาก ตา จมูก เป็นต้น

      แมวที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดจะมีระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ย 18 วัน ปกติจะพบว่าแมวที่โตเต็มที่แล้วมักจะมีความต้านทานต่อการติดโรคสูงกว่าลูกแมวและระยะฟักตัวของโรคมักจะยาวนานกว่า

      อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในแมว แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้คือ อาการระยะเริ่มแรก ระยะตื่นเต้น และระยะอัมพาต

      อาการระยะเริ่มแรก แมวที่ชอบคลุกคลีกับเจ้าของอาจกัดหรือข่วนเจ้าของโดยเเสดงอาการอารมณ์ฉุนเฉียวฉับพลัน หรืออาจหลบซ่อนตัวในที่มืด

      อาการระยะตื่นเต้น แมวจะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อสั่น กล้ามเนื้อเริ่มทำงานไม่สัมพันธ์กัน ตามด้วยอาการทางระบบประสาท ดุร้ายถ้ากักขังจะแสดงอาการท่าทีพร้อมที่จะกัดหรือข่วนโดยเฉพาะเมื่อมีวัตถุเคลื่อนไหวผ่าน และมีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหลเนื่องจากเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเคี้ยวและการกลืน โดยทั่วไประยะนี้จะแสดงอาการประมาณ 2 – 4 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่เป็นอันตรายแก่เจ้าของเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะอัมพาต

      อาการระยะอัมพาต แมวจะเริ่มแสดงอาการเกิดอัมพาตที่ส่วนท้ายของลำตัวก่อนแล้วแผ่ขยายไปยังส่วนลำตัวและหัว จนเกิดอัมพาตทั่วตัวอย่างรวดเร็วแล้วตายในที่สุด

      โดยทั่วไปพบว่าแมวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ จะแดงอาการในระยะตื่นเต้นให้เห็นเด่นชัดหรือเรียกว่าเป็นบ้าแบบดุร้ายมากกว่าแสดงอาการในระยะอัมพาตเด่นชัดหรือบ้าแบบซึม


โรคพิษสุนัขบ้าในม้า

      โรคพิษสุนัขบ้าในม้าเกิดน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่นโดยเฉพาะในประเทศไทย โรคพิษสุนัขบ้าในม้ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกับในสัตว์ชนิดอื่น

      การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้าในม้า มักเนื่องมาจากการถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดเอา โดยมีรายงานพบว่าระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

      อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในม้า อาการสังเกตเห็นได้เริ่มแรกคือ อาการตื่นเต้นกว่าปกติและแสดงอาการดุร้ายโดยจะไล่กัดม้าด้วยกันหรือกัดคน อาจแสดงอาการชอบกัดหรือถูตัวกับผนังตรงบริเวณที่เคยได้รับเชื้อ ถ้ากักขังในคอกจะกัดผนังคอกอย่างดุเดือด ตามด้วยการเกิดอาการกล้ามเนื้อสั่นหรือเกร็ง มีอาการกลืนลำบาก ขาหลังอ่อนเปลี้ยและเป็นอัมพาตในที่สุด ทำให้ล้มลงและลุกไม่ได้ เมื่อล้มลงแล้วจะตายภายใน 12 ชั่วโมงหรืออาจมีอาการชักร่วมด้วยก่อนจะตาย


โรคพิษสุนัขบ้าในโค

     โรคพิษสุนัขบ้าในโคมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกับในสัตว์ชนิดอื่น ในประเทศไทยโคที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามักจะมีประวัติการติดโรคมาจากการถูกสุนัขบ้ากัด ส่วนในประเทศที่มีค้างคาวดูดเลือดชุกชุมพบค้างคาวดูดเลือดเป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่เชื้อโรคไปยังโค

      โคที่ถูกสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดเอาระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าในโคเปลี่ยนแปลงได้มาก โดยพบเป็นโรคตั้งแต่ 13 วันหลังจากได้รับเชื้อจนถึงระยะเวลาหลายเดือน โดยเฉลี่ยระยะฟักตัวในโคเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนการรับเชื้อจากค้างค้าวดูดเลือดในธรรมชาติพบว่าระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1 เดือน

      อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในโค เริ่มจากไม่กินอาหาร น้ำลายไหล หงุดหงิด กระวนกระวาย หางตก กล้ามเนื้อท้องแข็งตึง เบ้าตาจมลึก หูกระดกไปด้านหลัง เดินไม่ตรงทาง เปะปะพยายามจะออกจากคอกที่ขังโดยวิ่งชนคอกเป็นระยะๆ และอาจแสดงอาการแปลกๆเช่นเอาหัวซุกพื้นคอกแล้วยกส่วนท้ายสูงขึ้น แสดงอาการกระหายน้ำจัดและพยายามดูดน้ำกินแต่ส่วนใหญ่น้ำจะไหลออกทางมุมปาก ต่อมาจะเกิดเป็นอัมพาตล้มลงนอน ส่งเสียงร้องเป็นระยะๆน้ำลายไหลมาก ลูกตาเหลือกขึ้นด้านบน ม่านตาขยาย ลิ้นห้อยออกนอกปาก คอเหยียด และตาย สำหรับอาการโรคพิษสุนัขบ้าในโค ซึ่งเกิดจากค้างคาวดูดเลือดจะแสดงอาการแบบอัมพาต ไม่ดุร้าย จากรายงานพบว่า กล้ามเนื้อขาหลังของโคจะทำหน้าที่ไม่สัมพันธ์กัน ต่อมาจะแสดงอาการเบื่ออาหาร ส่งเสียงร้องติดๆกัน ต่อมาจะล้มลงอยู่ในสภาพนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ ต่อมาจะมีอาการชัก และน้ำลายไหลมาก พยายามใช้ขาหน้าตะเกียกตะกาย ช่วงสุดท้ายจะหายใจไม่ออกแล้วตาย


โรคพิษสุนัขบ้าในสุกร

     โรคพิษสุนัขบ้าในสุกรมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า จากการถูกสุนัขป่วยกัด ระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าในสุกรโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์

      อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในสุกรมักเป็นอย่างเฉียบพลัน โดยมีนิสัยเปลี่ยนแปลง มีอาการไม่กินอาหาร มีอาการทางประสาท ตื่นเต้น กระวนกระวาย ส่งเสียงร้อง จะแสดงอาการบดเคี้ยวปาก กล้ามเนื้อทำหน้าที่ไม่สัมพันธ์กันและมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นอย่างรวดเร็ว และตามด้วยอาการอ่อนเปลี้ยล้มลงลุกไม่ได้และจะตายภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มแสดงอาการของโรค มีรายงานพบอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในสุกรนั้นคล้ายคลึงกับอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขมาก แต่ความรุนแรงของอาการต่างๆในสุกรจะน้อยกว่าในสุนัข