ภารกิจฝ่าย กลุ่มงาน

ฝ่ายบริการและวิจัยคลินิก

      ฝ่ายบริการและวิจัยคลินิก สืบเนื่องงานของสถานปัสตุรก่อนการสถาปนาสถานเสาวภา เดิมชื่อว่า ฝ่ายวัคซีนทั่วไป มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีทั้งการผลิตและการให้บริการผู้ป่วย เปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายบริการคลินิกในปีพ.ศ. 2541 และเปลี่ยนเป็นฝ่ายบริการและวิจัยคลินิกในปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบัน ฝ่ายบริการและวิจัยคลินิกประกอบด้วย คลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว และ คลินิกพิษจากสัตว์

คลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

     ประวัติของคลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจากการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่สถานปัสตุร (สถานปาสเตอร์) ในปีพ.ศ. 2455 และเปิดเป็นทางการเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ. 2456 วัคซีนที่ผลิตเป็นวัคซีนไขสันหลัง กระต่ายแบบปาสเตอร์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2473 สถานเสาวภาได้ผลิตวัคซีนสมองกระต่ายตามแบบ Semple หรือที่เรียกว่า “ฟีนอลวัคซีน” และเนื่องจากฟีนอลวัคซีนใช้สะดวก ให้ผลดีกว่าและการแพ้วัคซีนแบบปาสเตอร์มีอัตราสูงกว่าฟีนอลวัคซีน จึงเลิกใช้ปาสเตอร์วัคซีนในปีพ.ศ. 2486

     ในปีพ.ศ. 2501 ได้เริ่มใช้สมองแกะผลิตวัคซีน ปรากฏว่าได้ผลดีเช่นเดียวกับสมองกระต่ายแต่สมองแกะให้ปริมาณวัคซีนสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ดีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนก็ยังมีอยู่ ปีพ.ศ. 2525 จึงเริ่มนำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด Human diploid cell และวัคซีนที่ผลิตจากสมอง ลูกหนูดูดนม (Suckling mouse) มาใช้กับคนไข้เป็นครั้งแรก

      ในปีพ.ศ. 2528 สถานเสาวภา ใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ผลิต จากเซลล์เพาะเลี้ยงของ Chick embryo (PCEC) และต่อมาในปีพ.ศ. 2529 ใช้วัคซีนที่ผลิตจากการเพาะเลี้ยง Vero cell (PVRV) ซึ่งมีราคาถูกกว่าและมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันเพื่อเป็นการประหยัด และปราศจากอาการข้างเคียงที่พบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดสมองแกะ และในปีเดียวกันนี้ ได้นำวิธีการฉีดแบบ เข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal) มาใช้กับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด Vero cell สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและได้ผลดี เป็นที่ยอมรับโดยองค์การอนามัยโลก นำชื่อเสียงมาสู่สถานเสาวภา วิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข้าในชั้นผิวหนังสามารถใช้ได้กับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเซลล์เพาะเลี้ยง และใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

      ในปีพ.ศ. 2530 เริ่มใช้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ ผลิตจากซีรั่มคนโดยศูนย์ บริการโลหิตแห่งชาติ ในปีพ.ศ. 2536 เริ่มใช้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ผลิตจากซีรั่มม้าโดยสถานเสาวภา เลิกใช้วัคซีนชนิด Human diploid cell และ Suckling mouse ได้ยุติการใช้และการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดสมองแกะ ในปีพ.ศ. 2531 เนื่องจากพบปัญหาการแพ้วัคซีนที่มีอาการแทรกซ้อนระบบประสาท และประสิทธิภาพไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง

      ในปัจจุบัน งานหลักที่สำคัญของคลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในด้านการป้องกันและการวิจัยทางคลินิก ในด้านการป้องกัน ได้เปิดบริการตรวจ และรักษาผู้ป่วยที่ถูกสัตว์ที่สงสัยว่า เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดด้วยการฉีดวัคซีนและเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งแบบก่อนและหลังสัมผัสโรค รักษาและทำความสะอาดบาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดจากการถูกสัตว์ ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ให้คำปรึกษาและแนะนำเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าโดยแพทย์และพยาบาล อีกทั้งยังทำงานประสาน กับกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งในด้านปฏิบัติ และการให้ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ในด้านวิจัยมีการวิจัยทางคลินิก และการวิจัยพื้นฐานร่วมกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งสถาบันอื่น เป็นแหล่งฝึกงานและดูงานของชาวต่างประเทศ มีการจัดประชุมทางวิชาการอยู่เสมอ งานฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง เป็นที่ยอมรับและใช้ปฏิบัติในระดับนานาชาติ สถานเสาวภาได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกเป็น WHO Collaborating Centre for Research on Rabies Pathogenesis and Prevention ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533

คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว

     คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป พร้อมออกสมุดรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อเดินทางระหว่างประเทศ (International certificates of vaccination) ปัจจุบันให้บริการฉีดวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ท๊อกซอยด์ป้องกันบาดทะยัก ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ให้คำแนะนำถึงวิธีป้องกัน มาลาเรียและโรคระบาดอื่น ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ แนะนำเรื่องของเวชศาสตร์ป้องกันสำหรับนักท่องเที่ยว

คลินิกพิษจากสัตว์

      คลินิกพิษจากสัตว์ (Animal Toxin Clinic) สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุชัย สุเทพารักษ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเมื่อเริ่มก่อตั้ง เพื่อให้เป็นคลินิกที่คอยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาในเรื่องของสัตว์พิษแก่ประชาชน รวมทั้งแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์