สวนงู สถานเสาวภา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2466 เนื่องจากในประเทศไทยตั้งอยู่ในลักษณะภูมิประเทศที่มีงูอาศัยอยู่หลากหลายชนิด และในอดีตพบงูชุกชุมได้ทั่วไปจนเป็นสาเหตุให้มีประชาชนจำนวนมากถูกงูพิษกัด เเต่ในสมัยนั้นยังไม่มีเซรุ่มเเก้พิษงูรักษาผู้ที่ถูกงูพิษกัดในประเทศไทย ดร.เลโอโปลด์ โรแบรต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสถานเสาวภา จึงได้จัดหาเงินทุนในการสร้างสวนงูขึ้นในบริเวณของสถานเสาวภา เพื่อใช้เป็นสถานที่เลี้ยงงูพิษ สำหรับรีดพิษงู และนำไปผลิตเซรุ่มเเก้พิษงู จึงกล่าวได้ว่าสวนงู สถานเสาวภา ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ของโลก เเห่งเเรกของเอเชีย และยังเป็นหน่วยงานที่เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นแห่งหนึ่งของสภากาชาดไทย ปัจจุบันสวนงูมีภารกิจหลักอยู่ 3 ประการ ดังนี้
ภารกิจแรก
สวนงูเป็นสถานที่เลี้ยงงูพิษ เพื่อนำไปรีดพิษ สำหรับผลิตเซรุ่มแก้พิษงู ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการขยายขอบข่ายของงานเพิ่มเติมในส่วนของงานเพาะเลี้ยงงูเพื่อการอนุบาลและอนุรักษ์ชนิดพันธุ์งูที่สำคัญของประเทศไทย และงานด้านคลินิกรักษางู เพื่อตรวจดูแลสุขภาพงูให้แข็งแรงและรักษางูป่วยหรือได้รับบาดเจ็บในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากภายนอก และในอนาคตสวนงูจะเปิดคลินิกสัตว์เลื้อยคลานเพื่อให้บริการตรวจรักษาสัตว์เลี้ยงกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานแก่ประชาชนทั่วไป
ภารกิจที่สอง
สวนงูเป็นแหล่งให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องงู พิษงู และวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีเมื่อถูกงูกัด ผ่านรูปแบบของนิทรรศการสวนงู การเเสดงการสาธิตการรีดพิษงูและการจับงู โครงการอบรมเเละฝึกปฏิบัติจับงูให้เเก่บุคคลภายนอกทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การจัดการอบรมเเละกิจกรรมพิเศษต่างๆ รวมถึงการให้ความอนุเคราะห์วิทยากรไปบรรยายให้ความรู้นอกสถานที่ และการเผยเเพร่ความรู้และข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องงูและสวนงูผ่านทางสื่อช่องทางต่างๆ
ภารกิจที่สาม
สวนงูเป็นแหล่งวิชาการ สถานที่ศึกษา และวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งทางด้านพื้นฐานและประยุกต์เกี่ยวกับเรื่องงูและพิษงูจนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น WHO Collaborating Center for Venomous Snake Toxicology and Research
“๔ มะเสง” เป็นตึกที่มีความสำคัญเเละเก่าเเก่ของสวนงู ตึกนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่เจ้านายทั้ง 4 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำเเพงเพ็ชรอัครโยธิน ได้มีพระชนมายุครบ 4 รอบนักษัตร์ปีมะเส็ง จึงได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลร่วมด้วยพระประยูรญาติและมิตรได้ประทานเงินจำนวนหนึ่งแก่สภากาชาดไทยตั้งเป็นทุนขึ้นชื่อว่า “ทุน ๔ มะเส็ง” เพื่อใช้ในการรักษาผู้ที่ถูกสัตว์พิษกัด ต่อมาทรงอนุญาตให้สภากาชาดไทยแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากทุนนี้สำหรับสร้างตึก “๔ มะเสง” ขึ้นในบริเวณสถานเสาวภา ซึ่งทั้ง 4 พระองค์ได้เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2472 โดยใช้ตึกนี้เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์พิษชนิดต่างๆ และใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมสัตว์ที่มีพิษและไม่มีพิษให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ สภากาชาดไทยได้ตั้งชื่อตึกนี้ว่า "ตึก ๔ มะเสง" เพื่อเป็นการระลึกถึงพระเมตตาของเจ้านายทั้ง 4 พระองค์
หลังจากที่ "ตึก ๔ มะเสง" เปิดทำการต่อเนื่องมากว่า 70 ปี สภาพของอาคารก็ได้ชำรุดทรุดโทรมและพื้นที่ใช้สอยก็ไม่เพียงพอกับการใช้งานในปัจจุบัน ดังนั้น ใน พ.ศ. 2549 สภากาชาดไทยจึงได้รื้อถอน "ตึก ๔ มะเสง " (หลังเดิม) และสร้าง "ตึก ๔ มะเสง" (หลังใหม่) ขึ้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลและสภากาชาดไทย สูง 5 ชั้น ที่บริเวณเดิม เเละยังคงใช้ชื่ออาคารเดิม "ตึก ๔ มะเสง" เพื่อรำลึกถึงพระเมตตาของเจ้านายทั้ง 4 พระองค์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จฯ เปิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551
ในปี พ.ศ. 2563 สวนงูยังได้ดำเนินการสร้างอาคารคลินิกสัตว์เลื้อยคลานเพื่อใช้เป็นคลินิกสัตว์เลื้อยคลานแห่งแรกของประเทศไทย และในอนาคตสวนงูจะเปิดให้บริการตรวจรักษาสัตว์เลี้ยงกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานแก่ประชาชนทั่วไป
สวนงูกับงานวิจัยเชิงวิชาการ
สวนงู สถานเสาวภา ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องงูพิษ ชีวเคมีของพิษงู ชีววิทยาของงู พยาธิสภาพในงู โดยเฉพาะในเรื่องการเพาะเลี้ยงงูของสวนงูที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์งูเพื่อใช้ในสวนงู เนื่องจากสามารถเพาะงูได้หลายชนิด ทั้งนี้ สวนงูยังได้ทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารของงู เพื่อให้งูมีสุขภาพแข็งแรงและได้พิษงูที่มีคุณภาพดีสำหรับนำไปใช้ในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู สวนงูได้ศึกษาวิจัยร่วมกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายผลิตเซรุ่ม สถาบันทางวิชาการในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ ดังนี้
• การเพาะเลี้ยงงู
งานเพาะเลี้ยงงูเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 จนถึงปัจจุบัน เพื่อศึกษาวิธีการเลี้ยงงูตั้งแต่แรกเกิดจนถึงขั้นโตเต็มวัย โดยได้มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงูในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลี้ยงงู ผลงานเพาะเลี้ยงงูทำให้สวนงูลดจำนวนการซื้องูมีพิษและไม่มีพิษลงได้มาก การเพาะเลี้ยงงูนั้นได้ให้ความสนใจกับงูจงอาง (King cobra, Ophiophagus hannah) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นงูที่กินงูชนิดอื่นเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันงูไม่มีพิษได้มีจำนวนลดลง ทำให้ในบางครั้งแหล่งอาหารของงูจงอางที่เลี้ยงไว้ในสถานเสาวภาขาดแคลน จึงได้มีการทดลองหาอาหารเพื่อทดแทนอาหารจำพวกงู เช่น การทำไส้กรอกปลาให้งูกิน การฝึกให้กินหนูขาว การฝึกให้กินกบ เป็นต้น
• การศึกษาพิษงูในด้านชีวเคมี
สวนงูได้ศึกษาความแรงของพิษงู เอนไซม์ในพิษงู และองค์ประกอบของพิษงูชนิดต่างๆ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์และสามารถทำให้เข้าใจถึงเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ของพิษงู แนวทางในการพัฒนาการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู และการรักษาผู้ถูกงูพิษกัด โดยสวนงูยังได้มีการพัฒนางานวิจัยด้านอณูชีววิทยา (Molecular biology) เกี่ยวกับพิษงู โดยศึกษาลงลึกถึงระดับยีนขององค์ประกอบพิษงู ซึ่งได้เริ่มพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับกรดนิวคลิอิคและลำดับกรดอะมิโนของเอนไซม์และทอกซินของพิษงู เช่น ฟอสฟอไลเปส เอทู ของพิษงูแมวเซาและงูทับสมิงคลา นิวโรทอกซินในพิษงูทับสมิงคลาและ Bradykinin-potentiating peptide ของพิษงูกะปะ เป็นต้น นอกจากนี้ สวนงูยังได้ศึกษาบทบาทของอาหารที่แตกต่างไปจากอาหารตามธรรมชาติต่อองค์ประกอบและคุณสมบัติของพิษงูอีกด้วย
• การศึกษาการต้านพิษงูของสมุนไพร
สวนงูได้ศึกษาฤทธิ์ของพืชสมุนไพรในการต้านฤทธิ์ของพิษงูเห่าไทยและพิษงูกะปะ โดยศึกษาร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า พืชสมุนไพร ได้แก่ หมาก สีเสียด เถาโคกกระออม ใบโคลงเคลง และใบฝ้ายผี มีศักยภาพในการต้านพิษงู และต้านฤทธิ์ที่ทำให้เกิดเนื้อเยื่อตายจากพิษงูของงูเห่าไทยและงูกะปะในหลอดทดลอง ซึ่งก็ได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อไปสู่การพัฒนาเป็นตำรับยาในการต้านฤทธิ์ของพิษงู โดยเฉพาะต้านฤทธิ์ที่ทำให้เกิดเนื้อเยื่อตายจากพิษงู นอกจากนี้ สวนงูยังได้ศึกษาฤทธิ์ขององค์ประกอบของพิษงูจงอางเพื่อนำไปสู่การพัฒนายา เช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยากระชับกล้ามเนื้อ หรือยายับยั้งเซลล์มะเร็งจากพิษงูจงอาง ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• การศึกษาชีววิทยาของงู
การศึกษาชีววิทยาของงูเป็นการศึกษาธรรมชาติของงู สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยในธรรมชาติของงู และกลไกการทำงานของระบบร่างกายของงู เพื่อที่จะได้เลี้ยงงูได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสวนงูได้ศึกษาเมทาบอลิซึมของน้ำในร่างกายงูโตเต็มวัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ในงูเห่าไทย (Naja kaouthia) และงูเหลือม (Python reticulatus) และยังได้ศึกษากายวิภาคเปรียบเทียบของรังไข่และท่อรังไข่ในงูที่อออกลูกเป็นตัวและงูที่ออกลูกเป็นไข่ ตลอดจนได้ศึกษาสารเคมีในเลือดของงูชนิดต่างๆ และบทบาทของอาหารและสิ่งแวดล้อมต่อสารเคมีในเลือด
• การศึกษาประสิทธิภาพของเซรุ่มแก้พิษงู ซึ่งผลิตโดยสถานเสาวภา
เนื่องจากสถานเสาวภาเป็นหน่วยงานที่ผลิตเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิดหลัก แต่เนื่องจากในประเทศไทยมีงูพิษอยู่ประมาณ 56 ชนิด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา cross reactivity และ cross protectivity ของเซรุ่มแก้พิษงูที่มีอยู่ว่าสามารถต้านพิษงูชนิดอื่นได้หรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกงูกัดและไม่มีเซรุ่มเฉพาะเพื่อการรักษา ซึงจะได้เลือกใช้เซรุ่มที่มีในการรักษาแทนได้ นอกจากนี้ สวนงูยังได้ทำวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการ clone ฟอสฟอไลเปส เอทู ที่เป็นส่วนหนึ่งของพิษงูแมวเซาและกำลังศึกษาวิจัยในพิษงูทับสมิงคลาต่อไป ทั้งนี้ สวนงูยังได้มีการสร้างห้องสมุดยีนของต่อมพิษงูกะปะและต่อมพิษงูเขียวหางไหม้โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
• การศึกษาโรคและพยาธิสภาพของงู
สวนงูได้ศึกษาโรคที่เกิดจากพยาธิภายในและภายนอกชนิดต่างๆ ในงู โดยได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการศึกษาเกี่ยวกับโลหิตวิทยาและศึกษาพยาธิภายในและภายนอกตัวงู รวมทั้งโรคติดเชื้อต่างๆ โดยได้ศึกษาพยาธิสภาพในอวัยวะต่างๆ ของงู ศึกษาสาเหตุการเจ็บป่วยและการตายของงูในสวนงู ซึ่งก็ทำให้งูที่ป่วยได้รับการดูแลรักษาได้ทันส่งผลให้อัตราการตายของงูลดลงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจเชื้อ Salmonella ในระบบทางเดินอาหารของงูที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งผลการศึกษาเหล่านี้ทำให้ได้รับความรู้และแนวทางในการเลี้ยงงู รวมถึงได้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรคในงูมากขึ้น ในปัจจุบัน สวนงูได้จัดโปรแกรมการถ่ายพยาธิให้กับงูทุกตัวก่อนนำเข้ามาเลี้ยงในสวนงู เพื่อให้งูมีสุขภาพดีและสามารถนำไปเพาะพันธุ์หรือถ้าเป็นงูพิษจะได้น้ำพิษที่มีคุณภาพดี