ในปี พ.ศ. 2454 เกิดเหตุการณ์น่าสลด เมื่อหม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ถูกสุนัขบ้ากัด และต่อมามีอาการโรคพิษ-สุนัขบ้ากำเริบ จนถึงแก่ชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในขณะนั้นการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีการแพทยแผนใหม่ยังไม่มีในประเทศ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แล้วประกาศบอกบุญเรี่ยไร เงินทุนที่จะจัดตั้ง “สถานปาสเตอร์” ขึ้นในกรุงเทพ มีผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ จึงได้จัดตั้งขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทย ถนนบำรุงเมือง ใกล้โรงเลี้ยงเด็ก (บริเวณที่เป็นสถานที่ตรวจโรคปอด กองควบคุมวัณโรคในปัจจุบัน)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2456 ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ทำการผลิตวัคซีน และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนกระทั่งเดือนสิงหาคม พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้กิจการของสถานปาสเตอร์มาสังกัดสภากาชาดไทยภายใต้ชื่อ กองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย แต่ยังคงอาศัยสถานที่เดิมเป็นที่ทำการชั่วคราว
เนื่องในการถวาย พระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงพระคุณูปการของสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระราชปรารภใคร่จะสร้างสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ให้ยั่งยืนอยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนี คู่กันกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราช จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มอบให้สภากาชาดไทย เพื่ออำนวยการสร้างตึกหลังใหญ่หลังหนึ่งที่มุมถนนสนามม้าติดต่อกับถนนพระราม 4 เพื่อใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า " สถานเสาวภา " และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2465