สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการผลิตวัคซีนบีซีจี เซรุ่มแก้พิษงู เดี่ยวชนิดแห้ง 7 ชนิด ได้แก่ เซรุ่มแก้พิษงูเห่า (Cobra antivenin) เซรุ่มแก้พิษงูจงอาง (King Cobra antivenin) เซรุ่มแก้พิษงูสามเหลี่ยม (Banded Krait antivenin) เซรุ่มแก้พิษงูทับสมิงคลา (Malayan Krait antivenin) เซรุ่มแก้พิษงูกะปะ (Malayan Pit Viper antivenin) เซรุ่มแก้พิษงูแมวเซา (Russell’s Viper antivenin) และเซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ (Green Pit Viper antivenin) และเซรุ่มแก้พิษงูรวมชนิดแห้งอีก 2 ชนิด คือ เซรุ่มแก้พิษงูระบบประสาท (Neuro polyvalent snake antivenin) และเซรุ่มแก้พิษงูระบบโลหิต (Hemato polyvalent snake antivenin) รวมถึงเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
โดยมีเป้าหมายการผลิตให้ได้จำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้ในประเทศและบางส่วนสำหรับจำหน่ายต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล และเป็นโรงงานผลิตชีววัตถุที่มีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ (Upstream) จนถึงปลายน้ำ (Downstream) จนได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป โรงงานผลิตชีววัตถุของสถานเสาวภาได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP, PIC/S จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถือเป็นโรงงานผลิตชีววัตถุแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี ปัจจุบันสถานเสาวภา ได้ขยายงานด้านการผลิตโดยดำเนินการแบ่งบรรจุวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และน้ำยาทูเบอร์คูลิน พีพีดี และผลิตยากำพร้าสำหรับ ใช้ในประเทศ
เซรุ่มแก้พิษงูเดี่ยว 7 ชนิด พร้อมน้ำยาทำละลาย
เซรุ่มแก้พิษงู ระบบประสาทและระบบโลหิต พร้อมน้ำยาทำละลาย เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ตั้งอยู่บนพื้นที่ 646 ไร่ และมีม้า 490 ตัว ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ได้ผลิตพลาสมาที่นำมาใช้ทำเซรุ่มทั้งหมด 3,081 ลิตรจากม้าที่นำมาใช้ผลิตเซรุ่มจำนวน 299 ตัว นอกนั้นเป็นม้าที่ใช้งานอื่น ๆ เช่น ใช้เป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์และลูกม้าสำรองอายุ1- 4ปี การเลี้ยงม้ามีการใช้หญ้าสดจำนวน 437,180 กิโลกรัม และหญ้าแห้งจำนวน 91,420 กิโลกรัม
การทำเซรุ่มจากม้า หรือที่เรียกว่าการเตรียมพลาสมาดิบ (crude plasma) จะเป็นการเจาะเก็บเลือดม้าโดยวิธีพลาสมาเฟอรีซิส ( plasmapheresis ) ซึ่งหมายถึง การเจาะเก็บเลือดม้าที่มีการแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นของเหลวภายหลังจากการตกตะกอนของเม็ดเลือดแล้ว ของเหลวหรือพลาสม่า (plasma ) นี้ จะมีการรวบรวมนำส่งเพื่อเพียวริไฟด์เอาส่วนที่เป็นโปรตีนที่ต้องการ คือ อิมมูโนโกลบูลิน ( immunoglobulin ) ไปใช้ผลิตเซรุ่มต่อไป แต่เม็ดเลือดที่มีการตกตะกอน ซึ่งจะเป็นเม็ดเลือดแดงส่วนใหญ่ จะมีการถ่ายคืนกลับม้าตัวเดิม ดังนั้นม้าจะมีการสูญเสียเม็ดเลือดจากร่างกายเพียงเล็กน้อย
การผลิตเซรุ่มจากม้า จะเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกม้าที่มีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคใดๆ มาฉีดกระตุ้นด้วยพิษงูหรือวัคซีนพิษสุนัขบ้าตามโปรแกรมที่กำหนด พักม้ารอการตรวจหาไตเตอร์ และคัดม้าที่จะเจาะเก็บเลือดต่อไป การผลิตพลาสมาเป็นไป ตามมาตรฐานการผลิต GMP, PIC/S