การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสัตว์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกต้อง องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้
สุนัขและแมวควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไปและฉีดกระตุ้นอีกครั้งหลังเข็มแรก 1 เดือน หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
ปกติแล้วไม่มีการกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในปศุสัตว์ เช่น สุกร วัว ม้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามในกรณีปศุสัตว์ที่ เลี้ยงในบริเวณที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดล่วงหน้า เช่นเดียวกับสุนัขและแมว
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีข้อบ่งใช้ให้สามารถฉีดในสัตว์ป่าได้และได้มีกฏหมายคุ้มครองห้ามนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือเก็บไว้ในครอบครอง ดังนั้นจึงไม่ควรนำสัตว์ดังกล่าวมาเลี้ยงที่บ้านเป็นอันขาด เนื่องจากจะมีความผิดทางกฏหมายแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำในทางปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์ที่ถูกสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ดังนี้
สุนัขและแมวไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ถูกสัตว์ที่ทราบแน่นอนว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดต้องปรึกษาสัตวแพทย์ทันที ในทางปฏิบัติสัตว์จะต้องถูกกักขังควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดนาน 6 เดือน และทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์ภายใน 1 เดือนก่อนจะปล่อยออกมา ในกรณีสัตว์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนแล้ว ควรทำการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมทันทีและกักขังควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดประมาณ 3 เดือน
เช่น สุกร วัว ม้า ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ถูกสัตว์ที่ทราบแน่นอนว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรจะทำลายทิ้งทันที ในกรณีเจ้าของสัตว์ไม่ต้องการทำลายทิ้ง สัตว์จะต้องถูกกักขังควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดนาน 6 เดือน ในกรณีสัตว์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนแล้ว ควรทำการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมทันทีและกักขังควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดนาน 3 เดือน
ในกรณีสัตว์ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน และถูกสัตว์ที่ทราบแน่นอนว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรจะทำลายทิ้งทันที ในกรณีสัตว์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนแล้ว ควรทำการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมทันทีและกักขังควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดนาน 3 เดือน
การวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถทำการวินิจฉัยได้ 2 รูปแบบคือการวินิจฉัยโดยสังเกตอาการของสัตว์ในขณะนั้น และการวินิจฉัยโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการในส่วนของการวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยการสังเกตอาการที่สัตว์แสดงออกนั้นผู้วินิจฉัยจำเป็นจะต้องเป็นสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญในการวินิจฉัยโรคดังกล่าวเท่านั้น ในส่วนการวินิจฉัยโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้ยังไม่มีการตรวจวิธีใดที่ให้ผลการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่แม่นยำและถูกต้องแน่นอน
ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการในสัตว์ที่ตายแล้ว ได้แก่
1. การตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากเนื้อสมองสัตว์ โดยวิธี ฟลูโอเลสเซนส์ แอนตี้บอดี้ เทคนิค (Fluorescent antibody technique) เป็นวิธีที่ตรวจที่ทราบผลรวดเร็วและแม่นยำ และห้องปฏิบัติการทุกแห่งในประเทศไทยใช้วิธีการตรวจนี้ในการวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่ตายแล้ว
2. การตรวจด้วยวิธี พีซีอาร์ (PCR) ตรวจหาสารพันธุกรรม อาร์ เอ็น เอ (RNA) ของเชื้อไวรัสในน้ำลาย และเนื้อสมองสัตว์ จะได้ผลดี แต่การตรวจวิธีนี้ ไม่เหมาะในงานบริการ แต่เหมาะสำหรับงานวิจัยโรคพิษสุนัขบ้า
3. การตรวจโดยการฉีดเข้าสัตว์ทดลอง เช่น ฉีดในกระต่าย หนูขาว เป็นต้น การตรวจวิธีนี้ ไม่เหมาะในงานบริการเนื่องจากใช้เวลาในการตรวจนาน 28 วัน จึงใช้เป็นเทคนิกสำรองในการยืนยันการตรวจจากวิธีข้างต้น
กรณีสัตว์เลี้ยงในบ้านมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เราควรจะปฏิบัติดังนี้
1. คนในบ้านควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำลายสัตว์และห้ามคลุกคลีหรืออย่าให้สัตว์กัดเด็ดขาด
2. ห้ามนำสัตว์ไปคลุกคลีหรือเล่นกับสัตว์อื่น
3. ควรจะทำการกักขังสัตว์ไว้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
4. รีบปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อตรวจดูว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่
การป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของท่านติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เราควรปฏิบัติดังนี้
1. ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกปี
2. ควรเลี้ยงสัตว์ในบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด และห้ามปล่อยออกไปคลุกคลีกับสุนัขจรจัดนอกบ้าน
3. ห้ามเลี้ยงสุนัขจรจัดบริเวณหน้าบ้านเพราะจะเป็นตัวการในการแพร่เชื้อได้
4. ห้ามนำสุนัขจรจัดหรือสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาเลี้ยงในบ้านเด็ดขาด
กรณีสัตว์เลี้ยงตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในบ้านเราควรจะปฏิบัติตน ดังนี้
1. ทุกคนในบ้านควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
2. ควรปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มเติมให้แก่สัตว์เลี้ยงที่เหลืออยู่ในบ้าน
3. ล้างกรงและภาชนะที่เลี้ยงสัตว์ด้วยผงซักฟอกและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างอีกครั้ง
4. อุปกรณ์ต่างๆที่ทำความสะอาดแล้วควรจะตากแดดให้แห้งสนิท
5. บริเวณพื้นรอบๆบ้านควรจะทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างเช่นกัน