สวนงูกับงานวิจัยเชิงวิชาการ
สวนงู สถานเสาวภา ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องงูพิษ ชีวเคมีของพิษงู ชีววิทยาของงู พยาธิสภาพในงู โดยเฉพาะในเรื่องการเพาะเลี้ยงงูของสวนงูที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์งูเพื่อใช้ในสวนงู เนื่องจากสามารถเพาะงูได้หลายชนิด ทั้งนี้ สวนงูยังได้ทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารของงู เพื่อให้งูมีสุขภาพแข็งแรงและได้พิษงูที่มีคุณภาพดีสำหรับนำไปใช้ในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู สวนงูได้ศึกษาวิจัยร่วมกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายผลิตเซรุ่ม สถาบันทางวิชาการในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ ดังนี้
• การเพาะเลี้ยงงู งานเพาะเลี้ยงงูเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 จนถึงปัจจุบัน เพื่อศึกษาวิธีการเลี้ยงงูตั้งแต่แรกเกิดจนถึงขั้นโตเต็มวัย โดยได้มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงูในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลี้ยงงู ผลงานเพาะเลี้ยงงูทำให้สวนงูลดจำนวนการซื้องูมีพิษและไม่มีพิษลงได้มาก การเพาะเลี้ยงงูนั้นได้ให้ความสนใจกับงูจงอาง (King cobra, Ophiophagus hannah) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นงูที่กินงูชนิดอื่นเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันงูไม่มีพิษได้มีจำนวนลดลง ทำให้ในบางครั้งแหล่งอาหารของงูจงอางที่เลี้ยงไว้ในสถานเสาวภาขาดแคลน จึงได้มีการทดลองหาอาหารเพื่อทดแทนอาหารจำพวกงู เช่น การทำไส้กรอกปลาให้งูกิน การฝึกให้กินหนูขาว การฝึกให้กินกบ เป็นต้น
• การศึกษาพิษงูในด้านชีวเคมี สวนงูได้ศึกษาความแรงของพิษงู เอนไซม์ในพิษงู และองค์ประกอบของพิษงูชนิดต่างๆ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์และสามารถทำให้เข้าใจถึงเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ของพิษงู แนวทางในการพัฒนาการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู และการรักษาผู้ถูกงูพิษกัด โดยสวนงูยังได้มีการพัฒนางานวิจัยด้านอณูชีววิทยา (Molecular biology) เกี่ยวกับพิษงู โดยศึกษาลงลึกถึงระดับยีนขององค์ประกอบพิษงู ซึ่งได้เริ่มพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับกรดนิวคลิอิคและลำดับกรดอะมิโนของเอนไซม์และทอกซินของพิษงู เช่น ฟอสฟอไลเปส เอทู ของพิษงูแมวเซาและงูทับสมิงคลา นิวโรทอกซินในพิษงูทับสมิงคลาและ Bradykinin-potentiating peptide ของพิษงูกะปะ เป็นต้น นอกจากนี้ สวนงูยังได้ศึกษาบทบาทของอาหารที่แตกต่างไปจากอาหารตามธรรมชาติต่อองค์ประกอบและคุณสมบัติของพิษงูอีกด้วย
• การศึกษาการต้านพิษงูของสมุนไพร สวนงูได้ศึกษาฤทธิ์ของพืชสมุนไพรในการต้านฤทธิ์ของพิษงูเห่าไทยและพิษงูกะปะ โดยศึกษาร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า พืชสมุนไพร ได้แก่ หมาก สีเสียด เถาโคกกระออม ใบโคลงเคลง และใบฝ้ายผี มีศักยภาพในการต้านพิษงู และต้านฤทธิ์ที่ทำให้เกิดเนื้อเยื่อตายจากพิษงูของงูเห่าไทยและงูกะปะในหลอดทดลอง ซึ่งก็ได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อไปสู่การพัฒนาเป็นตำรับยาในการต้านฤทธิ์ของพิษงู โดยเฉพาะต้านฤทธิ์ที่ทำให้เกิดเนื้อเยื่อตายจากพิษงู นอกจากนี้ สวนงูยังได้ศึกษาฤทธิ์ขององค์ประกอบของพิษงูจงอางเพื่อนำไปสู่การพัฒนายา เช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยากระชับกล้ามเนื้อ หรือยายับยั้งเซลล์มะเร็งจากพิษงูจงอาง ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• การศึกษาชีววิทยาของงู การศึกษาชีววิทยาของงูเป็นการศึกษาธรรมชาติของงู สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยในธรรมชาติของงู และกลไกการทำงานของระบบร่างกายของงู เพื่อที่จะได้เลี้ยงงูได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสวนงูได้ศึกษาเมทาบอลิซึมของน้ำในร่างกายงูโตเต็มวัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ในงูเห่าไทย (Naja kaouthia) และงูเหลือม (Python reticulatus) และยังได้ศึกษากายวิภาคเปรียบเทียบของรังไข่และท่อรังไข่ในงูที่อออกลูกเป็นตัวและงูที่ออกลูกเป็นไข่ ตลอดจนได้ศึกษาสารเคมีในเลือดของงูชนิดต่างๆ และบทบาทของอาหารและสิ่งแวดล้อมต่อสารเคมีในเลือด
• การศึกษาประสิทธิภาพของเซรุ่มแก้พิษงู ซึ่งผลิตโดยสถานเสาวภา เนื่องจากสถานเสาวภาเป็นหน่วยงานที่ผลิตเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิดหลัก แต่เนื่องจากในประเทศไทยมีงูพิษอยู่ประมาณ 56 ชนิด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา cross reactivity และ cross protectivity ของเซรุ่มแก้พิษงูที่มีอยู่ว่าสามารถต้านพิษงูชนิดอื่นได้หรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกงูกัดและไม่มีเซรุ่มเฉพาะเพื่อการรักษา ซึงจะได้เลือกใช้เซรุ่มที่มีในการรักษาแทนได้ นอกจากนี้ สวนงูยังได้ทำวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการ clone ฟอสฟอไลเปส เอทู ที่เป็นส่วนหนึ่งของพิษงูแมวเซาและกำลังศึกษาวิจัยในพิษงูทับสมิงคลาต่อไป ทั้งนี้ สวนงูยังได้มีการสร้างห้องสมุดยีนของต่อมพิษงูกะปะและต่อมพิษงูเขียวหางไหม้โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
• การศึกษาโรคและพยาธิสภาพของงู สวนงูได้ศึกษาโรคที่เกิดจากพยาธิภายในและภายนอกชนิดต่างๆ ในงู โดยได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการศึกษาเกี่ยวกับโลหิตวิทยาและศึกษาพยาธิภายในและภายนอกตัวงู รวมทั้งโรคติดเชื้อต่างๆ โดยได้ศึกษาพยาธิสภาพในอวัยวะต่างๆ ของงู ศึกษาสาเหตุการเจ็บป่วยและการตายของงูในสวนงู ซึ่งก็ทำให้งูที่ป่วยได้รับการดูแลรักษาได้ทันส่งผลให้อัตราการตายของงูลดลงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจเชื้อ Salmonella ในระบบทางเดินอาหารของงูที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งผลการศึกษาเหล่านี้ทำให้ได้รับความรู้และแนวทางในการเลี้ยงงู รวมถึงได้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรคในงูมากขึ้น ในปัจจุบัน สวนงูได้จัดโปรแกรมการถ่ายพยาธิให้กับงูทุกตัวก่อนนำเข้ามาเลี้ยงในสวนงู เพื่อให้งูมีสุขภาพดีและสามารถนำไปเพาะพันธุ์หรือถ้าเป็นงูพิษจะได้น้ำพิษที่มีคุณภาพดี