...

ประกาศ/คำสั่ง/ข้อบังคับ

สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้รับเกียรติบัตรจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานความร่วมมือเพื่อกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ของประเทศไทย

ตามที่ได้เกิดการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทยทำให้ม้าที่ติดโรคล้มตาย จำนวนมากในปี 2563 ในการแก้ปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทยทางกรมปศุสัตว์ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) โดยมีพิธีลงนามเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ระหว่างกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง รวม 17 หน่วยงานโดยสถานเสาวภาเป็นฝ่ายที่แปดที่จะให้ความร่วมมือในการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทย โดยกำหนดพันธกิจของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ใน MOU จะพัฒนา ศึกษา วิจัย การผลิตวัคซีนและการควบคุมป้องกันโรคในม้า

โดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้ทำโครงการขอรับทุนศึกษาวิจัยจากสภากาชาดไทย และได้ร่วมมือกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ของเชื้อไวรัสที่ระบาดในประเทศไทยได้และมีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารนานาชาติ รวมทั้งได้พัฒนาต้นแบบชุดตรวจไวรัสกาฬโรคในม้า เป็นชุดตรวจตัวอย่างจากน้ำลายและเลือดของม้าเป็นการควบคุมป้องกันโรคในม้าอีกทางหนึ่งโดยมีคณะนักวิจัยของสถานเสาวภา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นสพ. ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ นสพ. สุรศักดิ์ เอกโสวรรณ นสพ. สุรสีห์ อุ๋ยสุวรรณ และ นสพ. ดามพ์ นราภรณ์ นายสัตวแพทย์ จากสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นสพ. สุพจน์ วัฒนะพันธ์ศักดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ นสพ.รชฎ ตันติเลิศเจริญ หน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาวิจัยพัฒนาต้นแบบวัคซีนเชื้อตายจากเชื้อไวรัส African horse sickness serotype 1 ดำเนินการที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพัฒนาสร้างวัคซีนใช้เทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยง เชื้อไวรัส serotype 1 จากเซลล์เนื้อเยื่อม้าป่วยที่ระบาดอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย โดยขั้นตอนแรก ศึกษาทดลองในหนูขาวเปรียบเทียบการให้วัคซีนเชื้อตาย (inactivated AHS vaccine serotype 1)ที่มีส่วนผสม adjuvant ต่างชนิดที่เหมาะสมให้การตอบสนองระดับทางภูมิคุ้มกันและปลอดภัย ก่อนถูกเลือกนำไปใช้ศึกษาในม้า ในขั้นตอนที่สอง โดยคัดเลือกมืที่นำมาศึกษาไว้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มม้าอายุ 2-3 ปี จำนวน 15 ตัว ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นป้องกันโรค AHS 1 ครั้งมาแล้วประมาณ 18 เดือน และกลุ่มม้าอายุ 6-7 เดือน จำนวน 12 ตัว ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค AHS มาก่อน ในการศึกษาม้าทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีน inactivated AHS serotype 1 ขนาด 2 ซีซี./ตัว เข้าใต้ผิวหนัง พบว่าม้าที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว ทั้ง 2 กลุ่ม ผ่านไป 2 สัปดาห์ตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อ AHS ที่สูง การยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาใช้พบว่าเมื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซ้ำเข็มที่สองในวันที่ 28 ไปแล้ว พบม้ามีการตอบสนองระดับภูมิคุ้มกันต่อ AHS สูงขึ้นภายในวันที่ 7 หลังให้วัคซีนและอยู่ในระดับสูงตลอดระยะเวลาที่ศึกษา 158 วัน โดยสรุป ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จากการศึกษาความปลอดภัยของวัคซีน ที่ใช้ในม้าทั้ง 2 กลุ่มไม่พบผลข้างเคียงจากการอักเสบตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน inactivated AHS serotype 1 และการติดตามสุขภาพม้าภายหลังการรับวัคซีนในช่วงระยะเวลา 30-42 วันผลการตรวจเลือดม้า ทาง hematology และ blood chemistry อยู่ในระดับปกติของช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ภายหลังการรับวัคซีน

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยนางสาววชิราภรณ์ แสงสีสม และคณะได้พัฒนาต้นแบบชุดตรวจไวรัสโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เป็นชุดตรวจตัวอย่างจากเลือดและน้ำลายของม้าเป็นวิธีการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคในม้าอีกทางหนึ่ง ด้วยวิธี Lateral flow immunochromatographic strip test (LFICS) อีกด้วย

จากการความร่วมมือนี้ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้รับเกียรติบัตรจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่ได้ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนกรมปศุสัตว์ในการดำเนินการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหากาฬโรคแอฟริกาในม้า ทำให้ประเทศไทยได้รับสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566