...

คลินิกพิษจากสัตว์

ความรู้เรื่องพิษจากสัตว์

     ข้อควรปฏิบัติเมื่อได้รับพิษจากสัตว์สัตว์พิษทั่วไปมีพิษเพื่อป้องกันตัวเอง และ/หรือหาอาหาร โดยปกติสัตว์เหล่านี้จะไม่ทำอันตรายคน ยกเว้นจะป้องกันตัวจากการรุกราน หรือเข้าใจผิดว่าจะถูกรุกราน


การได้รับพิษเกิดจาก
  • การถูกสัตว์พิษกัด ต่อย เช่น งู ผึ้ง ต่อ เป็นต้น 
  • การกิน เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย เป็นต้น
  •  การสัมผัส เช่น บุ้ง แมงกะพรุน เป็นต้น

อาการเป็นพิษทั่วไป 
  • บริเวณที่ถูกสัตว์พิษกัด ต่อย หรือสัมผัสจะปวด บวม แดง และ ร้อน บางครั้งจะมีอาการคัน และไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นทันที หรือมักไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้น อาการมักจะดีขึ้นหลัง 24 ชั่วโมง แต่ในบางกรณีอาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์หรือกลายเป็นแผลเป็น 
  • การกินสัตว์พิษ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง

อาการเป็นพิษ โดยเฉพาะ ในสัตว์พิษแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เช่น 
  • กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตเกิดจากงูเห่า งูสามเหลี่ยม ปลาปักเป้า 
  • เลือดออกพิษผิดปกติเกิดจากงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้

การปฏิบัติตัวอย่างไรเมี่อถูกสัตว์พิษกัด ต่อย 
  • ทำการปฐมพยาบาลเบื้องตัน เช่น ห้ามเลือด 
  • ใช้ยาสามัญประจำบ้านทาถูบริเวณที่กัดต่อยได้
  • เมื่อปวดแผล ให้กินยาแก้ปวดพาราเซทตามอลได้

เมื่อไรควรรีบมาพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
  • ถูกงูพิษกัดหรือสงสัยว่าถูกงูพิษกัด
  •  มีประวัติแพ้สัตว์พิษนั้น ๆ 
  • มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งในต่อไปนี้ 
    • หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก 
    • หมดสติ 
    • หนังตาตก พูดไม่ชัด มือเท้าไม่มีแรง
    • เลือดออกผิดปกติ 
    • ปวดบริเวณที่ถูกกัดต่อยมาก


สัตว์พิษ

แมงกระพรุน 

แมงกะพรุนมีพิษเกือบทุกชนิด แมงกะพรุนที่มีรายงานการพิษบ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ Giant Jellyfish, Lion’s mane (Cyanea capillata) พิษของแมงกะพรุนอยู่ที่ nematocyst หรือกะเปาะพิษที่มีอยู่เป็นจำนวนมากที่หนวดของมัน (tentacles) ใน nematocyst จะมีพิษประกอบด้วย cytolysin ที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อ

อาการและอาการแสดง 

      แมงกะพรุนในประเทศไทยไม่มีพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่มักทำให้การอักเสบอย่างรุนแรงบนผิวหนังที่สัมผัสกับ nematocyst การอักเสบมีอาการคัน ปวด บวม แดง ร้อนและมีตุ่มน้ำ แต่ที่สำคัญ คือ เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็น

ทำอย่างไรเมื่อได้รับพิษ

       1. รีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำทะเลหรือน้ำเกลือ ไม่ควรทำการทุบหรือขยี้บริเวณที่สัมผัสกับหนวดแมงกะพรุน

       2. ไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

การป้องกัน

       1. ไม่ควรเล่นน้ำทะเลในบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม

       2. ถ้าจะเล่นน้ำทะเลในบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม ให้สวมใส่ชุดว่ายน้ำที่ปกปิด


ผึ้งและตัวต่อกัดต่อย

      การต่อยมักเกิดขึ้นเนื่องจากสัตว์เหล่านี้คิดว่าคนจะทำร้ายมันหรือเนื่องจากไปรบกวนหรือรุกรานรังของพวกมัน

อาการและอาการแสดง

      อาการส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการปวด บวม แดงร้อนบริเวณถูกกัดต่อยอาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย ในกรณีที่ผึ้งหรือต่อจำนวนมากรุมต่อย จะมีอาการบวมอย่างมาก ในบางรายอาจมีหน้าหรือคอบวมมากจนหายใจลำบาก อาจมีเกล็ดเลือดต่ำ น้ำคั่งปอด กล้ามเนื้อถูกทำลาย และไตวายเฉียบพลัน

การดูแลตนเอง

      1. ให้รีบไปพบแพทย์ หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เมื่อมีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไป 

           - ถูกผึ้งหรือตัวต่อจำนวนมากต่อย (มากกว่า 20 ตัว) 

           - มีประวัติแพ้แมลงหรือสัตว์พิษนั้น - มีอาการหอบ แน่นหน้าอก เหนื่อย

      2. ห้ามกรีดหรือดูด บริเวณที่ถูกกัดต่อย

      3. ถ้ามีบาดแผลเปิด หรือมีเลือดไหล ไม่ควรใช้สมุนไพรพอก เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ

      4. กินยาพาราเซทตามอลแก้ปวด และถ้าปวดมากให้ประคบด้วยความเย็น

      5. ใช้ยาหม่องหรือยาสามัญประจำบ้านถูทาบาง ๆและเบาบริเวณที่ถูกกัดต่อย


งูพิษกัด

     ในประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์งูพิษกัดประมาณ 7,000-10,000 รายต่อปี

งูพิษที่มีความสำคัญที่พบบ่อยในประเทศไทย

     1. งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา

     2. งูที่มีพิษต่อระบบเลือด ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้

     3. งูที่มีพิษทำลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล


อาการและอาการแสดง

เมื่อถูกงูพิษกัด จะมีรอยเขี้ยวพิษเป็นรูเหมือนถูกเข็มตำ 2 รอย

1. งูที่มีพิษต่อระบบประสาท 

     พิษของงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาต จะเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไปจนถึง กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสุดท้ายจะเป็นทั้งตัว อาการแรกเริ่ม คือ หนังตาตก ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้น ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดๆ ว่าผู้ป่วยง่วงนอน ต่อมาจะเริ่มกลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจ เสียชีวิต

2. งูที่มีพิษต่อระบบเลือด

      เมื่อถูกงูแมวเซาฉกกัด มีอาการปวดบวมบริเวณรอบแผลเล็กน้อย สำหรับงูกะปะจะพบตุ่มน้ำเลือดหลายอัน และบางอันมีขนาดใหญ่ และมีเลือดออกจากแผลที่ถูกกัด ในกรณีของงูเขียวหางไหม้ จะมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัด และลามขึ้นค่อนข้างมาก เช่น ถูกกัดบริเวณนิ้วมือ แต่บวมทั้งแขน นอกจากนี้จะมีอาการช้ำเลือด 

     พิษของงูจะไปทำให้เลือดในร่างกายไม่แข็งตัว เลือดออกไม่หยุด เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง ปัสสาวะมีเลือดปน เลือดออกตามไรฟัน ในกรณีของงูแมวเซาจะมีความรุนแรงกว่างูกะปะและงูเขียวหางไหม้ และพบภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วยได้

3. งูที่มีพิษทำลายกล้ามเนื้อ 

     ปวดกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัว ปัสสาวะมีสีเข้มจนถึงสีดำ ปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากมีภาวะไตวายเฉียบพลัน อาจมีหัวใจหยุดเต้นจากภาวะโพแทสเซียมคั่งในเลือด

การดูแลตนเอง

      1. ไม่ต้องตกใจ งูที่กัดอาจไม่ใช่งูพิษ ให้ดูที่แผลที่ถูกกัด แผลงูพิษกัดจะมีลักษณะเหมือน เข็มตำ ขณะที่แผลจากงูไม่มีพิษจะเป็นรอยฟัน นอกจากนี้งูพิษกัดบางครั้งจะกัดแต่ไม่ ปล่อยพิษ

      2. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัด

      3. ให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

      4. ล้างบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด

      5. ห้ามกรีดหรือดูด บริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรใช้สมุนไพรพอก เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ

      6. ไม่ควรชันชะเนาะ หากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี

      7. ถ้าผู้ถูกกัดหยุดหายใจ ให้เป่าปากผายปอดเพื่อช่วยชีวิต

การป้องกัน

      1. ในบริเวณบ้านและสถานที่อยู่อาศัย ต้องไม่มีที่รกรุงมาก จนเป็นที่อาศัยของงูหรือหนู เพราะบางครั้งงูจะมากินหนู

      2. การเดินทางในเวลากลางคืนต้องพกไฟฉายและส่องไฟตลอดเวลา หรือเดินในที่ที่มีแสงไฟส่องสว่างพอ

      3. การเดินในสถานที่มีงูชุกชุมต้องใส่รองเท้าหุ้มส้น

      4. ก่อนจะสวมรองเท้าหุ้มส้น ควรตรวจสอบเสียก่อนว่ามีงูหลบซ่อนอยู่ในรองเท้าหรือไม่

      5. ควรหลีกเลี่ยงการงัดแงะ ขุด คุ้ย ก้อนหิน ขอนไม้ หรือการใช้มือ เท้า หรือมุดเข้าไปในโพรงที่ทึบ เนื่องจากอาจมีงูหลบซ่อนอยู่ได้

      6. เมื่อเจองูควรหลีกเลี่ยงอยู่ห่าง ๆ อย่าเข้าใกล้


สัตว์พิษที่มีระยางค์เป็นข้อปล้อง (Arthropods) อื่นๆ ที่กัดต่อย

      สัตว์พิษเหล่านี้ได้แก่ แมงมุม Spiders  แมงป่อง Scorpions (Heteromanus laoticus) ตะขาบ Centipedes (Chilopoda หรือ Scolopendra spp) กิ้งกือ Millipedea(Millipoda)

     สัตว์พิษเหล่านี้พบได้ทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่การกัดต่อยทำให้เกิดอาการไม่รุนแรง ถึงแม้จะมีรายงานจากต่างประเทศว่าสัตว์เหล่านี้สามารถกัดต่อยและทำให้เสียชีวิตได้ แต่สายพันธุ์เหล่านนั้นไม่พบในประเทศไทย

อาการและอาการแสดง

     ปวด บวมแดงร้อนบริเวณที่ถูกกัด มักจะดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง ยกเว้นแมงมุมที่อาจบวมนานเป็นสัปดาห์ ในกรณีของตะขาบหรือแมงป่อง มักจะมีอาการปวดมากทันทีที่ถูกกัด ซึ่งบางครั้งปวดมาก จนต้องมาพบแพทย์

ทำอย่างไรเมื่อถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อย

      ใช้แนวทางเดียวกับผุ้งหรือต่อต่อย แต่ไม่ค่อยพบอาการแพ้

การป้องกัน

      1. ใช้แนวทางเดียวกับการป้องกันงูพิษ

      2. ในบริเวณที่มีแมงป่อง หรือตะขาบชุกชุม ต้องคอยระวังเวลาใส่รองเท้า พื้นห้องน้ำ และเตียงนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาฝนตก หรือน้ำท่วม

     

สัตว์ที่สร้างพิษเทโทรโดท็อกซิน

สัตว์ที่สร้างพิษเทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin producing animals) สัตว์เหล่านี้ ได้แก่

        - Puffer fish ปลาปักเป้า, ปลาเนื้อไก่

        - Asiatic horseshoe crab แมงดาถ้วย เหรา แมงดาไฟ

        - Blue-ringed octopus ปลาหมึกวงฟ้า

        การเป็นพิษเกิดจากการที่คนไปกินปลาปักป้า แมงดาถ้วย แต่การเป็นพิษจากปลาหมึกวงฟ้าเกิดจากที่มันกัดคน สัตว์เหล่านี้พบได้ในอ่าวไทย

อาการและอาการแสดง

       ผู้ได้รับจะมีอาการชารอบปาก และรู้สึกคล้ายเป็นเหน็บชา จากนั้นจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ได้รับพิษจะเสียชีวิตจากากรที่กล้ามเนื้อการหายใจหยุดทำงาน อาการต่าง ๆ เหล่านี้ถ้ารักษาประคับประคองได้นาน 24-48 ชั่วโมงก็จะหายได้เอง

ทำอย่างไรเมื่อได้รับพิษ

       รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ถ้าผู้ได้รับพิษหยุดหายใจ ให้เป่าปากผายปอดเพื่อช่วยชีวิต

การป้องกัน

      ไม่ควรกินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ถ้ากินให้สังเกตอาการชารอบปาก เมื่อมีอาการดังกล่าวให้หยุดกินทันที ส่วนปลาหมึกวงฟ้ามีโอกาสกัดคนน้อยมาก