วันศุกร์ที่ 8กันยายน 2566 คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย จัดงาน “วัคซีนผู้สูงวัย: ฉีดไว…ไกลโรค”ณ ศูนย์การค้า Central World กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชากรทั่วไปในการฉีดวัคซีนที่มีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ในรูปแบบของการจัดนิทรรศการและการเสวนาบนเวทีของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมประชาชนให้มีสุขภาวะที่ดี อันจะนำไปสู่การลดอุบัติการณ์การติดเชื้อที่สำคัญในผู้สูงอายุ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นายสัตวแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร รองผู้อำนวยการสถานเสาวภา ฝ่ายวิชาการ ภายในงานจัดให้มีนิทรรศการให้ความรู้วัคซีนสำหรับผู้สูงวัย การให้ความรู้วัคซีนสำหรับผู้สูงวัย โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา ฝ่ายวิชาการ เวทีเสวนา “วัคซีนผู้สูงวัย : ฉีดไว...ไกลโรค” โดย แพทย์หญิงสุดา พันธุ์รินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ นายแพทย์ 9 ฝ่ายบริการและวิจัยคลินิก พร้อมด้วย นางสุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล- ขับร้อง) และกิจกรรมจับฉลากรายชื่อประชาชนที่มาร่วมงานเพื่อรับวัคซีนงูสวัด วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และของที่ระลึกฟรี
ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัญหาการติดเชื้อในผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญเพราะผู้สูงอายุ มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโรคลดลงและการติดเชื้อมีอัตราความพิการและการเสียชีวิตสูงกว่าคนอายุน้อย ดังนั้นการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญ เพื่อลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตวัคซีน ที่แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุ ได้แก่-วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ กำหนดให้ฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นแขนปีละ 1 ครั้งทุกปี เนื่องจากวัคซีน จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่บรรจุในวัคซีนตามไวรัสที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ พบว่าการฉีดวัคซีนนอกจากลดอัตราการป่วยไข้หวัดใหญ่แล้วยังสามารถลดการป่วยที่ต้องมาพบแพทย์หรือลดการป่วย จนต้องเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลด้วย สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อาจพิจารณาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มีขนาดสูงคือ เพิ่มขนาดวัคซีนเป็น 4 เท่าของวัคซีนขนาดปกติ อาจพิจารณาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้แก่กลุ่มบุคคลซึ่งใกล้ชิดกับผู้สูงอายุด้วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้แก่ผู้สูงอายุเมื่อตนเองป่วย
- วัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดส ในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งในผู้ที่เคยรับวัคซีนครบ 2 โดส มาก่อน พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน มีอัตราป่วยรุนแรงและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่ำกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
- วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสเพื่อลดการติดเชื้อปอดบวมโดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อชนิดคอนจูเกต (PCV-13,PVC-15) ฉีดวัคซีนเข้ากล้าม 1 เข็ม และอาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อชนิดโพลีแซคคาไรด์ (PPV-23) เข้ากล้าม 1 เข็มตามโดยเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 ปี การฉีดวัคซีนพบว่าลดการเกิดปอดอักเสบและการติดเชื้อรุนแรงจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้
- วัคซีนป้องกันงูสวัดโดยการฉีดวัคซีนที่ทำจากโปรตีนของเชื้อ (recombinant zoster vaccine) 1 เข็มเข้ากล้าม 2 ครั้งห่างกัน 2-6 เดือน พบว่าลดการเกิดงูสวัดได้มากกว่าร้อยละ 90 สามารถฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงประวัติการเป็นงูสวัดหรือโรคสุกใสมาก่อน
นอกจากนี้วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุ ยังรวมถึงวัคซีนที่เคยได้รับตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเมื่อ เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดจากการเคยฉีดวัคซีนในวัยเด็กจะมีระดับลดลงจนไม่เพียงพอในการป้องกันโรค จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้สูงอายุได้รับความสนใจและสนับสนุนในการให้วัคซีนมากขึ้น ประเทศไทยมีการกำหนดโปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบว่าอัตราการให้วัคซีนที่สำคัญในผู้สูงอายุ ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ อาจเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น แพทย์ไม่ได้แนะนำถึงความสำคัญของการป้องกันโรคด้วยวัคซีนในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งระบบการให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุยังไม่มีระบบการให้บริการที่ชัดเจน ผู้สูงอายุอาจกลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน วัคซีนมีราคาแพง ฯลฯ ดังนั้นการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชากรในความสำคัญของการฉีดวัคซีนและการให้การสนับสนุนการป้องกันโรคด้วยวัคซีนในผู้สูงอายุทั้งโดยภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงมีความสำคัญ
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ตึกอำนวยการสถานเสาวภาชั้นล่าง
เปิดทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. และเวลา 13.00-16.00 น.
วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.45 น.)
วันอาทิตย์ ปิดทำการ
เบอร์โทรศัพท์ 0 2252 0161 ต่อ 82119 หรือ 82731