...

ประกาศ/คำสั่ง/ข้อบังคับ

18 พฤษภาคม 2566 พิธีเปิดโครงการฉีดวัคซีน HPV เพื่อชีวิตที่ไม่โดนตัดจบ

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฉีดวัคซีน HPV เพื่อชีวิตที่ไม่โดนตัดจบ” กล่าวรายงานการดำเนินโครงการโดย ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. กาญจน์พิมล ฤทธิเดช รองผู้อำนวยการสถานเสาวภา ฝ่ายบริหารและเทคนิค ณ บริเวณโถงชั้นล่าง อาคารสิรินธรานุสรณ์ ๖๐ พรรษา สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย

ตามที่สภากาชาดไทย ได้รับบริจาควัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จากบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 800,000 โดส เพื่อสนับสนุนพันธกิจของสภากาชาดไทย ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชากรและบุคคลกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย โดยได้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สภากาชาดไทย และบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยสภากาชาดไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการจัดบริการ แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยได้ดำเนินการจัดสรรวัคซีนดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ประกอบด้วย

  • Øกลุ่มที่ 1 กลุ่มนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 500,000 โดส โดยสภากาชาดไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ให้บริการ
  • Øกลุ่มที่ 2 กลุ่มเด็กหญิงอายุ 12-15 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียน จำนวน 100,000 โดส โดยเหล่ากาชาดจังหวัด เป็นผู้ให้บริการ
  • Øกลุ่มที่ 3 กลุ่มเด็กหญิงอายุ 12-15 ปี ที่เป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย ประกอบด้วย กลุ่มที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่สูง 9 แห่ง, กลุ่มชาติพันธุ์ (บัตรสี), กลุ่มแรงงาน 3 สัญชาติ จำนวน 40,000 โดส โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ให้บริการ
  • Øกลุ่มที่ 4 บริการแก่กลุ่มเป้าหมายตามที่สภากาชาดไทยกำหนด จำนวน 160,000 โดส โดยหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย สถานเสาวภา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ให้บริการ

โดยสภากาชาดไทยและหน่วยงานเครือข่าย จะดำเนินการนำวัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จำนวน 800,000 โดส ให้บริการแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายอันจะนำไปสู่การลดอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกและเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงโรคอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี

“มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย และคร่าชีวิต ของผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยวันละ 23 คน สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา (Human papillomavirus) หรือที่เรียกว่า ไวรัสเอชพีวี (HPV) โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมักไม่แสดงอาการ แต่อาจนำไปสู่การติดเชื้อเอชพีวีเรื้อรังจนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ช่องคลอด อวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปากและลำคอ รวมไปถึงโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดเมื่อฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยหากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถ ฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน ส่วนผู้มีอายุตั้งแต่ 15ปีขึ้นไปจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ที่ระยะเวลา 0, 1-2 เดือน และ 6 เดือน

ในการนี้ สภากาชาดไทย จึงได้ดำเนิน “โครงการฉีดวัคซีน HPV เพื่อชีวิตที่ไม่โดนตัดจบ” เพื่อให้เด็กหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี จนถึงก่อนอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จำนวน 2 เข็ม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อเอชพีวี ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวีไม่สามารถทดแทนการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap smear) เมื่อถึง วัยอันควรได้

สำหรับผู้ปกครองที่สนใจให้บุตร-หลาน เพศหญิง อายุตามเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นเข้ารับบริการวัคซีนป้องกันเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการเปิดลงทะเบียนเพื่อเข้ารับบริการวัคซีนได้ทาง เฟซบุ๊กเพจของสภากาชาดไทย “Thai Red Cross Society” หรือ เฟซบุ๊กเพจของสถานเสาวภา “สถานเสาวภา สภากาชาดไทย : Queen Saovabha Memorial Institute”