วันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เข้ารับพระราชทานรางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ” ประเภท “หน่วยงาน” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริให้ทำหนองฝีขึ้นใช้เอง จึงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการรับธุระไปจัดการโดยจัดส่งนายแพทย์ 2 นายออกไปเพื่อศึกษาวิชาการนี้ที่ ประเทศฟิลิปปินส์ และกลับเข้ามาดำเนินการทำพันธุ์หนองฝีแก่โค ขึ้นเป็นแห่งแรกที่ตำบลสี่กั๊กพระยาศรี ในพระมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2444
ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้ย้ายที่ทำการปลูกพันธ์หนองฝีมายังจังหวัดนครปฐม และเพิ่มการทำเซรุ่มสำหรับรักษาโรคของสัตว์พาหนะต่างๆ และจัดหาเซรุ่มสำหรับรักษามนุษย์ และมีการโอนย้ายสังกัดให้ไปอยู่ในความปกครองของกระทรวงมหาดไทย
ปี พ.ศ. 2454 หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริศานติ์ ดิสกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพถูกสุนัขบ้ากัดจนถึงสิ้นชีพิตักษัย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้นำความขึ้นกราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จ- พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจัดตั้งสถานที่ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยอาศัยเงินอุดหนุนที่ได้รับพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์จากสมเด็จพระราชชนีพันปีหลวงส่วนหนึ่งกับเงินที่ประชาชนร่วมใจบริจาคให้อีกส่วนเพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ ขาดแต่สถานที่สำหรับดำเนินการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นสถานที่ทำการชั่วคราว พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายกิจการทำพันธุ์หนองฝีและทำวัคซีนอื่นที่อยู่ทางจังหวัดนครปฐม มาดำเนินการอยู่ด้วยกัน โดยขนานนามว่า “ปาสตุระสภา” เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2456 อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาในเดือนสิงหาคม
พ.ศ.2460 ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนปาสตุระสภา ไปสังกัดสภากาชาดไทย
และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานปาสเตอร์” เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ทำพันธุ์หนองฝี ทำยาฉีดป้องกันและรักษาโรคต่างๆ
สืบเสาะแสวงหากำเนิดของโรคต่างๆที่เกิดใหม่และจัดหาวิธีป้องกันรักษา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนึงถึงพระคุณูปการของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา- บรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปรารถนาใคร่จะสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์อันยั่งยืนอยู่ในประเทศไทย จึงทรงอุทิศที่ดินบริเวณมุมถนนพระราม ๔ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มอบให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อจัดสร้างสถานที่แห่งใหม่ของสถานปาสเตอร์ และพระราชทานนามสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า “สถานเสาวภา” และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เพื่อดำเนินกิจการทั้งหมดของสถานปาสเตอร์ ที่ย้ายมา ณ สถาบันใหม่นี้อย่างถาวร กิจการดังกล่าว ได้แก่ การทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการฉีดวัคซีนให้ประชาชนผู้ถูกสุนัขกัด การทำวัคซีนหนองฝีกันไข้ทรพิษ และการปลูกฝีให้กับประชาชนทั่วไป พร้อมกับขยายงานผลิตชีววัตถุให้ก้าวหน้าด้วยการทำวัคซีนชนิดอื่นและเซรุ่มขึ้นใช้เองเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ วัคซีนป้องกันกาฬโรค และวัคซีนอื่นๆ รวมทั้งทำเซรุ่มแก้พิษงูและรักษาคนไข้ถูกงูพิษกัด ให้ความสนใจทั้งด้านสัตว์พิษและพืชพิษ นอกจากนี้ยังมีการทำวัคซีนและเซรุ่มสำหรับป้องกันและรักษาโรคในสัตว์อีกด้วย ซึ่งในเวลาต่อมามีการยกเลิก การผลิตไปหลายชนิดเนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบันสถานเสาวภายังดำรงไว้ซึ่งการผลิตวัคซีนบีซีจีสำหรับป้องกันวัณโรค ซึ่งพระบาทสมเด็จ- พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์แก่สถานเสาวภาในการสร้างตึกผลิตวัคซีนบีซีจีสำหรับใช้ในประเทศ โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 พระราชทานนามตึกนี้ว่า “มหิดลวงศานุสรณ์” และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึก เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496 เป็นวัคซีนที่สถานเสาวภาเริ่มงานวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนบีซีจีมาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สถานเสาวภายังดำเนินการผลิตและพัฒนาการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูและพิษสุนัขบ้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เซรุ่มที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยมีการพัฒนามาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 นับเป็นโรงงานผลิตชีววัตถุแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจในด้านการวิจัยพัฒนา การผลิตชีววัตถุ และการให้บริการประชาชนที่สนับสนุนงานบริการทางแพทย์ตลอดมา นับเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญทางด้านสาธารณสุข ด้วยคุณภาพและมาตรฐานเพื่อสนองปณิธานอันยิ่งใหญ่ของสถาบันแห่งนี้
“เพื่อปิตุภูมิ เพื่อวิทยา เพื่อมนุษย์ชาติ”