...

ประกาศ/คำสั่ง/ข้อบังคับ

พิธีทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี วันสถาปนาสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา

ข่าวประชาสัมพันธ์สถานเสาวภา

พิธีทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี

วันสถาปนาสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา



    
      วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถานเสาวภาร่วมพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี วันสถาปนาสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ณ สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

     สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เป็นชื่อที่ใช้เพื่อการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ราชูปถัมภกของสภากาชาดไทย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2543 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย

     สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร ทางถนนสายหัวหิน-ป่าละอู พื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ เป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า โดยมีอาณาเขตรอบ ๆ ติดกับพื้นที่โครงการปลูกป่ามูลนิธิชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ภายในพื้นที่ของสถานี 646 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จำนวนกว่า 500 ไร่ได้แบ่งเป็นแปลงปลูกหญ้าเพื่อเป็นแปลงปล่อยม้าและแปลงปลูกหญ้าสดให้มากิน ที่เหลือประมาณ 43 ไร่ ถูกนำมาใช้เป็นที่ก่อสร้างบ้านพักและอาคารปฏิบัติงานต่างๆ ประกอบไปด้วยบ้านพัก 60 หลัง อาคารสำนักงาน 1 หลัง อาคารปฏิบัติงานเซรุ่ม 1 หลัง อาคารสัตว์ทดลอง โรงรถและโรงเก็บของต่าง ๆ มีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำที่นำน้ำมาใช้ทั้งการผลิตเป็นน้ำประปาและรดน้ำแปลงหญ้า

โดยในปัจจุบัน สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ มีม้าทั้งหมด 490 ตัว มีภารกิจ 3 ด้าน ดังนี้

     1. การจัดการฟาร์มม้า เป็นการบริหารจัดการงานต่าง ๆ อย่างครบวงจรที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงม้าและผลิตลูกม้าเพื่อใช้งานการผลิตเซรุ่มต่าง ๆ งานในส่วนนี้ ได้แก่ การจัดการ    ระบบผสมพันธุ์เพื่อผลิตลูกม้า การเลี้ยงดูแลการรักษาม้าป่วย การจัดการแปลงหญ้าเลี้ยงม้า การปฏิบัติงานทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพม้าและการผลิตพลาสมาจากม้าเพื่อทำเซรุ่ม รวมถึงงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ

     2. การผลิตพลาสมา (plasma) จากม้าเพื่อทำเซรุ่ม

การผลิตพลาสมา (ส่วนประกอบหนึ่งของเลือดม้า) คือ การนำพลาสมาจากม้าที่คัดเลือกและผ่านการฉีดกระตุ้นแล้ว เพื่อนำไปผลิตเซรุ่มแก้พิษงูและเซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า เป็นภารกิจหลักของสถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ

     งานในส่วนนี้ เริ่มจากการคัดม้าที่มีสุขภาพดี การฉีดกระตุ้นพิษงูในม้า การตรวจคัดเลือกม้ามาทำเซรุ่ม การเจาะเก็บพลาสมาจากม้า และการขนส่งพลาสมาไปโรงงานผลิตเป็นเซรุ่มที่สถานเสาวภา ปัจจุบันมีการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิดทั้งที่เป็นแบบเดี่ยว (monovalent) และรวมหลายชนิดงู (polyvalent) ในขวดเดียวกัน

     3. การเลี้ยงสัตว์ทดลองอย่างหนูถีบจักร (mice) เพื่อใช้งานทดสอบผลิตภัณฑ์เซรุ่ม