...

สวนงู

ประเภทของงู

งูพิษในประเทศไทยที่มีความสำคัญทางสาธารณสุข

งูจงอาง : King Cobra [Ophiophagus hannah (Cantor, 1836)]

ขนาน : 200 – 540 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ย 400 เซนติเมตร ขนาดยาวที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ 585 เซนติเมตร

ลักษณะ : ตัวโตเต็มวัยมีความผันแปรของขนาดและสีสันลำตัวที่เด่นชัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับขอบเขตทางภูมิศาสตร์ งูจงอางภาคใต้มีขนาดใหญ่ที่สุด สีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเขียวอมเทา ลวดลายตามลำตัวไม่ชัดเจน งูจงอางภาคเหนือมีสีเข้มเกือบดำ นิสัยดุ งูจงอางภาคกลางและภาคอีสานมีลายขวางเป็นบั้งๆตลอดลำตัว เมื่อถูกรบกวนงูจงอางจะแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่า โดยยกตัวตั้งได้สูงถึง 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว แต่แม่เบี้ยของงูจงอางจะแคบกว่าของงูเห่า ลักษณะเด่นอีกอย่างคือ งูจงอางมีเกล็ดท้ายทอยขนาดใหญ่ 1 คู่ (occipital scales)บนศีรษะค่อนไปทางด้านหลังของเกล็ดกระหม่อม ลูกงูเกิดใหม่มีสีลำตัวที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือมีลายขวางเป็นวงรอบตัวสีเหลืองอ่อนตั้งแต่ปลายจมูกไปจนตลอดความยาวของลำตัวที่มีพื้นเป็นสีดำ ลวดลายขวางสีเหลืองนี้จะหายไปเมื่องูมีอายูมากกว่า 6 เดือนหรือมีความยาว 1 เมตรขึ้นไป

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม วางไข่ครั้งละ 12-51 ฟองช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ในธรรมชาติแม่งูจะใช้ลำตัวกวาดเศษใบไม้มากองสุมทำเป็นรังแล้ววางไข่ไว้ใต้กองใบไม้ แม่งูอยู่เฝ้ารังและกกไข่จนกระทั่งลูกฟักเป็นตัวภายในเวลา 60-70 วันระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ลูกงูจงอางแรกเกิดมีน้ำหนัก 12.2 – 24.0 กรัม และความยาว 48 - 65 เซนติเมตร

อาหาร : งูชนิดอื่นๆ และ กิ้งก่า

แหล่งที่พบ : พบในป่าทึบโดยชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำลำธาร อาศัยอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำทะเลได้ถึง 2,135 เมตร

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีรายงานพบในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ภูฏาน เนปาล อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน เกาะมาเก๊า และจีนตอนใต้.



งูเห่า : Siamese / Monocellate Cobra [Naja kaouthia (Lesson, 1831)]

ขนาด : 100 – 180 เซนติเมตร ขนาดยาวที่สุดที่วัดได้ของสถานเสาวภาคือ 225 เซนติเมตร

ลักษณะ : เป็นงูที่แผ่แม่เบี้ยได้โดยการตั้งส่วนหัวและคอขึ้น แล้วแผ่กางส่วนคอให้ขยายกว้างออกไป มีลายตรงกลางแม่เบี้ยบนด้านหลังของส่วนคอเรียกว่า “ลายดอกจัน” ลักษณะส่วนใหญ่เป็นรูปวงแหวนเดี่ยว สีลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม สีดำ หรือ สีเหลืองนวล

การสืบพันธ์ุ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงมกราคม วางไข่ครั้งละ 15-37 ฟอง ช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ระยะฟักไข่นาน 51-69 วัน (เฉลี่ย 60 วัน) ลูกงูเห่าแรกเกิดมีน้ำหนัก 13.2 -18.8 กรัม และความยาว 31.5 – 35.5 เซนติเมตร

อาหาร : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก หนู นก กบ เขียด และบางครั้งกินงูชนิดอื่นเป็นอาหาร

แหล่งที่พบ : บริเวณที่ลุ่มค่อนข้างชื้น อาศัยอยู่ในจอมปลวก ทุ่งนา หรือพบบนภูเขาที่ระดับความสูง 900 เมตร ออกหากินในเวลาพลบค่ำโดยหากินตามพื้นดิน

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เนปาล และจีน



งูสามเหลี่ยม : Banded Krait [Bungarus fasciatus (Schneider, 1801)]

ขนาด : 100 -180 เซนติเมตร อาจยาวได้ถึง 200 เซนติเมตร เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้

ลักษณะ : ลำตัวมีสีดำสลับเหลืองเป็นปล้องขนาดใกล้เคียงกันตลอดตัวทั้งส่วนบนและส่วนท้อง โดยส่วนท้องมีสีจางกว่า ลักษณะเด่นคือ แนวของกระดูกสันหลังยกตัวสูงเด่น ทำให้เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายหางทู่มน

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม วางไข่ครั้งละ 8-12 ฟองช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และฟักเป็นตัวช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 14.0 – 19.6 กรัม และความยาว 26.5 – 33.5 เซนติเมตร

อาหาร : งูชนิดอื่น กิ้งก่า ปลา เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน และเชื่องช้าในตอนกลางวัน

แหล่งที่พบ : พบทั่วไปตามที่ราบลุ่ม ป่าชายเลน ทุ่งนา และอาจพบได้ที่ระดับความสูงถึง 2,300 เมตร

การแพร่กระจาย: พบได้ทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีรายงานพบในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย (เกาะชวา กาลิมันตัน และสุมาตรา) เนปาล บรูไน อินเดีย บังคลาเทศ เกาะมาเก๊า และจีนตอนใต้



งูทับสมิงคลา : Malayan Krait [Bungarus candidus (Linnaeus, 1758)]

ขนาด : 100 -150 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวค่อนข้างกลมไม่เป็นสันชัดเจนอย่างงูสามเหลี่ยม มีสีดำสลับขาวเป็นปล้องตลอดความยาวลำตัว มีเกล็ดดำแซมอยู่ในปล้องขาว ส่วนท้องมีสีขาว ส่วนบนของหัวมีสีดำปนเทา ส่วนหางเรียวยาวและปลายหางแหลม เป็นงูที่ว่องไวปราดเปรียวและพิษมีความรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม วางไข่ครั้งละ 4-8 ฟอง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม และฟักเป็นตัวช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 5-8 กรัม และความยาว 27-34 เซนติเมตร

อาหาร : งูขนาดเล็ก จิ้งเหลน กบ เขียด เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : พบอาศัยตามพื้นดินที่ลุ่มชื้นใกล้แหล่งน้ำ ในป่าที่ระดับความสูง 540-1,525 เมตร .

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา ชวา บาหลี และสุลาเวสี)



งูแมวเซา : Siamese Russell’s Viper [Daboia siamensis (Smith, 1917)]

ขนาด : 90 - 150 เซนติเมตร

ลักษณะ: ลำตัวอ้วนเทอะทะ พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนแต้มลายเป็นวงสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วตัวโดยมีขอบด้านในสีดำ ส่วนขอบด้านนอกสีขาว ลายบางลายเชื่อมติดกันหรือมีขนาดแตกต่างกันไป หัวเป็นรูปสามเหลี่ยมปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กมีสัน ลวดลายบนหัวมีสีน้ำตาลเข้มมองดูคล้ายหัวลูกศร เมื่อถูกศัตรูคุกคามจะขดตัวเป็นวง แล้วทำเสียงขู่โดยการสูบลมเข้าไปในตัวจนตัวพอง แล้วพ่นลมออกมาทางรูจมูกแรงๆ เป็นเสียงดังฟังดูน่ากลัว และสามารถฉกกัดได้อย่างรวดเร็วจากท่านี้

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ออกลูกเป็นตัวครั้งละ 20 - 45 ตัว (สูงสุด 63 ตัว) ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 7.2 – 14.4 กรัม และความยาว 24 - 30 เซนติเมตร

อาหาร : หนู นก กบ เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ตามที่ดอนแห้ง ทุ่งนา ขดตัวนอนตามโพรงดิน ซอกหินหรือพงหญ้ารก ไม่ขึ้นต้นไม้ อาจพบได้ที่ระดับความสูง 2,000 เมตร

การแพร่กระจาย : พบมากแถบภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในพม่า กัมพูชา จีนตอนใต้ ไต้หวัน และเกาะชวาของอินโดนีเซีย



งูกะปะ : Malayan Pitviper [Calloselasma rhodostoma (Boie in Boie, 1827)]

ขนาด : 50-80 เซนติเมตร อาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้

ลักษณะ : ลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา มีลายรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มขอบขาวเรียงเป็นแถวอยู่สองข้าง โดยที่ปลายแหลมของสามเหลี่ยมมาจดกันที่เส้นสีน้ำตาลซึ่งพาดผ่านตามแนวของกระดูกสันหลัง ส่วนหัวสีน้ำตาลเข้มมีเส้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวนวลพาดจากปลายจมูกผ่านขอบบนของลูกตาไปที่มุมขากรรไกรบนปลายจมูกแหลมเชิดขึ้น

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม วางไข่ครั้งละ 10-30 ฟองช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ระยะฟักไข่นาน 33 - 45 วัน และฟักเป็นตัวช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 2.2 -6.6 กรัม และความยาว 13.5 -18.5 เซนติเมตร ปลายหางมีสีขาวซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากตัวโตเต็มวัย

อาหาร : หนู กบ เขียด นก เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่ชอบขดตัวนอนนิ่งๆ อยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ร่วง ในสวนยางพารา พบบริเวณที่ลุ่มในป่าชื้นจนถึงระดับความสูง 2,000 เมตร

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ มาเลเซีย และเกาะชวาของอินโดนีเซีย



งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง : White-lipped Pitviper [Trimeresurus albolabris (Gray, 1842)]

ขนาด : ความยาวโดยเฉลี่ย 70 เซนติเมตรในเพศผู้ และ 90 เซนติเมตรในเพศเมีย อาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร เพศเมียมักมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้

ลักษณะ : รูปร่างค่อนข้างอ้วนใหญ่ปกคลุมด้วยเกล็ดมีสันชัดเจน ลำตัวและหัวเป็นสีเขียวอ่อนส่วนหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมหลิมยาวปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กๆผิวเรียบ และมีขนาดใหญ่กว่าลำคออย่างเด่นชัด ส่วนท้อง ริมฝีปาก และคางมีสีเหลือง ขาว หรือสีเขียวอ่อนกว่าสีของลำตัว ในเพศผู้มักมีเส้นข้างตัวสีขาวพาดผ่านเกล็ดลำตัวแถวนอกสุดตั้งแต่คอถึงหาง ซึ่งไม่พบในเพศเมีย หางสีน้ำตาลแดง

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ออกลูกเป็นตัวครั้งละ 7-30 ตัวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 3.6 – 5.2 กรัม และความยาวเฉลี่ย 20 เซนติเมตร

อาหาร : หนู นก กิ้งก่า กบ เขียด หรือ ปาด โดยออกหากินตอนกลางคืนตามพื้นดิน พุ่มไม้ หรือต้นไม้

แหล่งที่พบ : มักพบอยู่ในสวนใกล้บ้านคน หรือในพื้นที่ระดับความสูงต่ำกว่า 400 เมตร

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และมีการแพร่กระจายใน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม เกาะมาเก๊า ไต้หวัน จีนตอนใต้ บังคลาเทศ และอินเดีย.



งูเขียวหางไหม้ตาโต : Big-eyed Pitviper [Trimeresurus albolabris (Gray, 1842)]

ขนาด : 60 – 70 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวค่อนข้างเพรียว สีเขียวแก่หรือสีเขียวอมฟ้า ส่วนท้องมักมีสีเขียวอมฟ้าโดยเฉพาะริมฝีปากล่างและคาง ส่วนหัวรูปทรงสามเหลี่ยมค่อนข้างอ้วนป้อม ขนาดใหญ่กว่าลำคอชัดเจน ลักษณะเด่นคือมีดวงตากลมโตสีเหลืองขนาดใหญ่กว่างูเขียวหางไหม้ทุกชนิด

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ออกลูกเป็นตัวครั้งละ 5 – 12 ตัวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม

อาหาร : หนู นก กิ้งก่า กบ เขียด หรือ ปาด โดยออกหากินตอนกลางคืนตามพื้นดิน พุ่มไม้ หรือต้นไม้

แหล่งที่พบ : พบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ในสวนใกล้บ้านเรือน หรือใกล้แหล่งน้ำลำธาร

การแพร่กระจาย : พบชุกชุมทางภาคกลางของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาวตอนใต้



งูลายสาบคอแดง Red-necked Keelback Snake [Rhabdophis subminiatus (Schlegel, 1837)]

ขนาด : 80 – 130 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเขียวมะกอก ส่วนหัวมีสีเขียวมะกอก มีขีดสีดำพาดจากมุมตาไปยังริมฝีปากบน ลักษณะเด่น คือ ส่วนคอมีสีเเดงอมส้ม จัดเป็นงูพิษอ่อนที่พิษอาจออกฤทธิ์รุนเเรงต่อระบบโลหิต ในบางรายที่ถูกกัดอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 5 – 17 ฟอง

อาหาร : หกบ คางคก จิ้งเหลน และหนู เป็นงูที่ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน

แหล่งที่พบ : อาศัยอยู่ตามพื้นดินในเขตพื้นที่ราบลุ่มของป่าร้อนชื้นถึงพื้นที่ภูเขาที่ระดับความสูง 1,780 เมตร

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซียตอนเหนือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และเนปาล


..................................................................


งูไม่มีพิษในประเทศไทยที่สามารถพบได้บ่อยครั้ง


งูแสงอาทิตย์ : Sunbeam Snake [Xenopeltis unicolor (Boie, 1827)]

ขนาด : ความยาวประมาณ 120 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวมีสีดำถึงสีน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องสีขาว ส่วนหัวแบนเรียว ตาเล็ก ลักษณะเด่นคือ เกล็ดลำตัวเรียบเป็นเงาแวววาวสะดุดตาเมื่อสะท้อนแสงแดด และในลูกงูแรกเกิดมีรอบคอเป็นสีขาวแตกต่างจากงูโตเต็มวัย

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 3 – 17 ฟอง แม่งูตั้งท้องนำมาเลี้ยงไว้ในงานเพาะเลี้ยงงูของสถานเสาวภา วางไข่จำนวน 19 ฟอง ในเดือนมีนาคม และฟักเป็นตัวในเดือนพฤษภาคม รวมระยะฟักไข่ในห้องทดลอง 65 วัน ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 8.2 – 8.6 กรัม และความยาว 25.0 – 29.5 เซนติเมตร

อาหาร : งูชนิดอื่น หนู กบเขียด และจิ้งเหลน เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ใต้ดินตามพื้นที่ชุ่มชื้น

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย



Indochinese Rat Snake [Ptyas korros (Schlegel, 1837)]

ขนาด : 100 – 256 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวส่วนต้นมีสีเขียวมะกอกแล้วค่อยเป็นสีน้ำตาลไปทางส่วนท้ายจนถึงหาง เกล็ดลำตัวเรียบมีขอบสีดำ ส่วนหัวเรียวยาวมีสีน้ำตาลอมเทา ตากลมโต

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 4 – 12 ฟอง

อาหาร : หนู กบ กิ้งก่า จิ้งเหลน เป็นงูที่ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน

แหล่งที่พบ : ในพื้นที่เกษตรกรรมหรือในป่าที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตร

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ไต้หวัน และแคว้นอัสสัมของอินเดีย



งูทางมะพร้าว : Copperhead Rat Snake [Coelognathus radiatus (Boie, 1827)]

ขนาด : 180 – 230 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีน้ำตาลอมเทา มีลายเป็นทางยาวสีดำ 4 เส้นพาดจากส่วนคอแล้วค่อยๆจางไปทางกึ่งกลางลำตัว ส่วนหัวมีสีน้ำตาลแดง มีเส้นสีดำ 3 เส้นพาดแผ่เป็นรัศมีออกจากมุมตาด้านหลัง ลักษณะเด่นคือมักแกล้งทำเป็นตายเพื่อหลีกเลี่ยงศัตรูเมื่อสู้ไม่ไหว หรือขู่ศัตรูโดยการทำคอแบนเข้าทางด้านข้างและขยายกว้างเป็นทางยาว พร้อมกับยกหัวและส่วนต้นประมาณหนึ่งในสี่ของความยาวลำตัวให้สูงขึ้นเป็นวงโค้งเหมือนสปริง และพุ่งเข้าใส่ศัตรูอย่างว่องไวเพื่อฉกกัด



การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม หรือตลอดทั้งปี ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 5 – 12 ฟอง ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกรกฎาคม และฟักเป็นตัวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 11.0 – 12.4 กรัม และความยาว 44 – 46 เซนติเมตร

อาหาร : หนู นก ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดินแต่ขึ้นต้นไม้ได้สูง

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์



งูเขียวพระอินทร์ : Golden Flying Snake [Chrysopelea ornata (Shaw, 1802)]

ขนาด : 100 – 130 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวมีสีเขียวแกมเหลือง เกล็ดลำตัวเรียบโดยขอบเกล็ดมีสีดำหรือสีดำทั้งเกล็ดต่อเนื่องกันเป็นลวดลายกากบาททั้งตัว เกล็ดท้องมีสันชัดเจนช่วยในการปีนป่าย เป็นงูที่ว่องไวปราดเปรียว สามารถเลื้อยแบบพุ่งตัวหรือร่อนตัวไปมาระหว่างต้นไม้สูงได้



การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 6 – 12 ฟอง แม่งูตั้งท้องนำมาเลี้ยงไว้ในงานเพาะเลี้ยงงูของสถานเสาวภา วางไข่จำนวน 15 ฟอง ในเดือนมีนาคม และฟักเป็นตัวในเดือนพฤษภาคม รวมระยะฟักไข่ในห้องทดลอง 70 วัน

อาหาร : นก หนู กิ้งก่า ตุ๊กแก กบ และค้างคาว เป็นงูที่ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ในพื้นที่ราบหรือบนภูเขาสูงที่ระดับ 550 เมตร

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงพม่า มาเลเซีย อินเดีย และจีนตอนใต้



งูเหลือม : Reticulated Python [Malayopython reticulatus (Schneider, 1801)]

ขนาด : 700 – 1,000 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวอ้วนหนามีลวดลายเป็นแนวเส้นสีดำปนเหลืองต่อเนื่องกันเป็นร่างแห ซึ่งอยู่ล้อมรอบวงแต้มสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนทางด้านบนจนถึงด้านข้างของลำตัวที่เรียงเป็นระยะอยู่ทั้งสองข้างลำตัว ส่วนหัวสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีเหลือง มีเส้นสีดำ 1 เส้นพาดตรงจากปลายจมูกผ่านส่วนท้ายทอยไปยังส่วนคอ และเส้นสีดำข้างละ 1 เส้นจากมุมตาด้านล่างไปยังบริเวณมุมขากรรไกร เกล็ดเรียบเป็นมันวาวเมื่อถูกแสงแดด

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 30 – 50 ฟอง เคยมีรายงานถึง 124 ฟอง ระยะฟักไข่นาน 68 - 72 วันในห้องทดลองของสถานเสาวภา ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 72– 79 กรัม และความยาว 125– 165 เซนติเมตร

อาหาร : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ นอกจากนี้มีรายงานบ่อยครั้งที่งูเหลือมกินมนุษย์ด้วย เนื่องจากงูในกลุ่มนี้ (รวมถึงงูหลามและงูหลามปากเป็ด) จัดเป็นงูที่มีกล้ามเนื้อลำตัวแข็งแรงมาก จึงฆ่าเหยื่อโดยการรัดเหยื่อจนขาดอากาศแล้วจึงเริ่มกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัว เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : ชอบอาศัยอยู่ในป่าชื้นที่ระดับความสูงถึง 1,500 เมตร หรือบริเวณแหล่งที่ราบลุ่มชุ่มชื้นใกล้บ้านคน มักอาศัยอยู่ตามพื้นดินแต่ปีนต้นไม้ได้ดี

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า หมู่เกาะฟิลิปปินส์และฟลอเรส



งูหลาม : Burmese Python or Javanese Python [Python bivittatus (Kuhl, 1820)]

ขนาด : 600 – 700 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวอ้วนหนามีสีน้ำตาลเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อนเป็นสีพื้น มีลวดลายเป็นวงแต้มขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้มขอบด้านนอกสีดำตลอดทั้งตัว ส่วนหัวมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมมีลวดลายทางด้านบนเป็นรูปหัวลูกศรสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเหลือง ส่วนท้องสีขาว

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 30 – 50 ฟอง

อาหาร : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มหรือในป่าที่ระดับความสูงถึง 900 เมตร

การแพร่กระจาย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศอินโดนีเซีย (เกาะกาลิมันตัน ชวา ซัมบาวา และสุลาเวสี)



งูสิงหางลาย Banded Rat Snake, Oriental Ratsnake [Ptyas mucosa (Linnaeus, 1758)]

ขนาด : 120 – 320 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา มีลวดลายเป็นวงสีดำคาดเป็นระยะๆ จากส่วนกลางของลำตัวจนถึงส่วนหาง ส่วนหัวเรียวยาวมีสีน้ำตาลอมเทา ตากลมโต ขอบของเกล็ดริมฝีปากบนเเละล่างมีสีดำทำให้ดูเหมือนมีขีดสีดำเป็นเเนวตั้ง 6 – 7 ขีดที่ขอบปาก

การสืบพันธุ์ : ผสมพันธุ์ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 8 – 22 ฟอง ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม และฟักเป็นตัวช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ลูกงูเเรกเกิดมีน้ำหนัก 15.6 – 18.8 กรัม และความยาว 51.5 – 62.0 เซนติเมตร

อาหาร : หนู กบ กิ้งก่า จิ้งเหลน เป็นงูที่ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดินเเต่ขึ้นต้นไม้สูงได้ เเละพบได้ตามป่าที่ระดับความสูง 1,000 เมตร

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย



งูลายสอ Yellow-spotted Keelback Snake [Fowlea flavipunctatus (HALLOWELL, 1860)]

ขนาด : ความยาวประมาณ 100 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวสั้นมีสีน้ำตาลอมเขียวมะกอก ลักษณะเด่น คือ มีลวดลายเป็นจุดเเต้มสีดำเรียงเป็นเเถวสลับกันไปมามองดูคล้ายตาหมากรุก ส่วนหัวสีน้ำตาลมีขีดสั้นๆ สีดำพาดจากขอบตาด้านล่างไปยังขอบริมฝีปากบน เเละขีดยาวสีดำพาดเฉียงจากขอบตาด้านหลังผ่านอ้อมมุมริมฝีปากบนไปที่ส่วนท้ายทอย เป็นงูไม่มีพิษเเต่มีนิสัยดุ ปราดเปรียว และฉกกัดอย่างว่องไวเมื่อถูกคุกคาม

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ เเม่งูตั้งท้องนำมาเลี้ยงไว้ในงานเพาะเลี้ยงงูของสถานเสาวภา วางไข่จำนวน 50 ฟองในเดือนมกราคม และฟักเป็นตัวในเดือนมีนาคม รวมระยะฟักไข่ในห้องทดลอง 47 วัน

อาหาร : ปลา กบ เขียด และหนู เป็นงูที่ออกหากินทั้งกลางวันเเละกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน ตามทุ่งนา บริเวณใกล้ลำธารหรือเเหล่งน้ำ

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย



งูปล้องฉนวนสร้อยเหลือง Common Wolf Snake [Lycodon capucinus (Boie, 1827)]

ขนาด : ความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลลำตัวเรียวยาวสีน้ำตาลมีลวดลายไขว้กันเป็นร่างแหเล็กๆ สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนทั่วตัว ส่วนท้องสีขาว ส่วนหัวค่อนข้างเเบนมีสีน้ำตาล ปลายจมูกยาวกว่าขากรรไกรล่าง มีเเถบสีขาวพาดขวางบริเวณท้ายทอย ริมฝีปากมีสีเหลือง

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 3 – 11 ฟอง

อาหาร : จิ้งจก จิ้งเหลน กบ และเขียด เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินใกล้กับเเหล่งน้ำหรือลำธาร

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบในพม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย



งูในสกุลงูปี่เเก้ว Kukri Snakes (Genus Oligodon)

ขนาด : 40 – 115 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวค่อนข้างอ้วนกลม เกล็ดลำตัวเรียบ งูเเต่ละชนิดในสกุลงู่ปี่เเก้วมักมีความผันเเปรของสีสันมาก ทำให้ยากในการจำเเนกชนิด ลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวมีลวดลายเป็นรูปคล้ายหัวธนูพาดตั้งเเต่ปลายจมูกไปถึงท้ายทอย จัดเป็นงูที่ว่องไวและดุมาก มีฟันที่เเหลมคม ผู้ที่ถูกงูสกุลนี้กัดมักมีลักษณะบาดเเผลเหมือนถูกมีดบาดลึกมาก

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 3 – 16 ฟอง

อาหาร : หนู จิ้งเหลน นก กบ รวมถึงไข่ของนก และสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น โดยใช้ฟันที่เเหลมคมกัดเปลือกไข่ เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : งูในสกุลนี้เป็นงูที่พบอาศัยอยู่ตามพื้นดินในพื้นที่ราบลุ่มจนถึงในป่าที่ระดับความสูงถึง 1,300 เมตร

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



งูก้นขบ Red-tailed Pipe Snake [Cylindrophis ruffus (Laurenti, 1768)]

ขนาด : ความยาวประมาณ 100 เซนติเมตร

ลักษณะ : ลำตัวทรงกระบอกยาวมีสีดำทั้งตัว ส่วนท้องเป็นลายขวางสีขาว ส่วนหางค่อนข้างใหญ่เท่าๆ กับส่วนหัว เวลาตกใจหรือถูกคุกคามจะพยายามซุกซ่อนส่วนหัว แล้วทำตัวเเบนเเนบกับพื้นพร้อมกับชูส่วนหางม้วนงอขึ้นสูงมองเห็นส่วนใต้หางเป็นสีส้มเเดง เพื่อขู่ศัตรู เเละมักถูกเข้าใจผิดว่ามี 2 หัว

การสืบพันธุ์ : ออกลูกเป็นตัวครั้งละ 5 – 13 ตัว

อาหาร : งูชนิดอื่น จิ้งเหลน ปลา และไส้เดือน เป็นงูที่ออกหากินกลางคืน

แหล่งที่พบ : เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มชื้น พื้นดินร่วนซุยโดยซุกตัวอยู่ใต้เศษใบไม้ หรือใต้ดินตื้นๆ หรือซ่อนตัวตามโพรงหนู

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบในพม่า อินโดนีเซีย (เกาะบอร์เนียว สุมาตรา ชวา และสุลาเวสี) และจีน